อันนนาถสูตร - ความสุขของผู้ครองเรือน



ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

“ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้ อันคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาลตามสมัย


สุข ๔ ประการเป็นไฉน คือ

สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ๑  
สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ๑
สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ ๑
สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ๑

ก็สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์เป็นไฉน

โภคทรัพย์ของกุลบุตรในโลกนี้ เป็นของที่เขาหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม

เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า…
โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว
ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมของเรามีอยู่

นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์

ก็สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภคเป็นไฉน

กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลายด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม

เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า…
เราย่อมใช้สอยโภคทรัพย์
และย่อมกระทำบุญทั้งหลาย
ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้
ด้วยความขยันหมั่นเพียร
สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว
ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม

นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค

ก็สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้เป็นไฉน

กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมไม่เป็นหนี้อะไร ๆของใคร ๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม

เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า…
เราไม่เป็นหนี้อะไร ๆ ของใคร ๆ
น้อยก็ตาม มากก็ตาม

นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้

ก็สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษเป็นไฉน

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้

เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า…
เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
...อันหาโทษมิได้

นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้แล อันคฤหบดีผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาลตามสมัย

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

นรชนผู้จะต้องตาย
รู้ความไม่เป็นหนี้ว่าเป็นสุขแล้ว…
พึงระลึกถึงสุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
เมื่อใช้สอยโภคะ เป็นสุขอยู่

…ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญา


ผู้มีปัญญาดี เมื่อเห็นแจ้ง ย่อมรู้ส่วนทั้ง ๒ ว่า สุขแม้ทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของสุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

 

 

อ้างอิง : อันนนาถสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๖๒ หน้า ๖๘