สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถบัญญัติผลแห่งทานที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบันหรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“สามารถ สีหะ"
ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
"ดูกรสีหะ
ทายกผู้เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก
แม้ข้อนี้ เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษผู้สงบ ย่อมคบหาทายกผู้เป็นทานบดี
แม้ข้อนี้ เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของทายกผู้เป็นทานบดีย่อมขจร
แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใด ๆ คือที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขินเข้าไป
แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงได้ในสัมปรายภพ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สีหะเสนาบดี ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์เชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ก็หามิได้
แม้ข้าพระองค์เองก็ทราบดี คือ
ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี
ย่อมเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก
สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาข้าพระองค์
ผู้เป็นทายกเป็นทานบดี
กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์
ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมขจรทั่วไปว่า...
สีหเสนาบดี เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้บำรุงพระสงฆ์
ข้าพระองค์ ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี
จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใด ๆ คือ
ที่ประชุมกษัตริย์พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ
ก็ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เองก็ย่อมทราบดี ถึงส่วนผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
ผลแห่งทานข้อที่ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอกข้าพระองค์ว่า ทายกผู้เป็นทานบดีเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบ ก็แต่ว่าข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้”
“อย่างนั้นสีหะ ๆ คือ
ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว
ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
นรชนผู้ไม่ตระหนี่ให้ทาน
ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก
ชนเป็นอันมาก ย่อมคบหานรชนนั้น
นรชนนั้น ย่อมได้เกียรติ มียศ เจริญ
เป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้าเข้าสู่ที่ประชุมชน
เพราะเหตุนี้แล บัณฑิตผู้หวังสุข จงขจัดมลทิน คือ ความตระหนี่ แล้วให้ทาน
บัณฑิตเหล่านั้น…
ย่อมประดิษฐานในไตรทิพย์
ถึงความเป็นสหายของเทวดา
ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน
บัณฑิตเหล่านั้น ได้ทำสิ่งที่มุ่งหวัง ได้ทำกุศลแล้วจุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง เที่ยวชมไปในอุทยานชื่อนันทนวัน ย่อมเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ในนันทนวัน
สาวกทั้งปวงของพระสุคตผู้ไม่มีกิเลส ผู้คงที่ ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมร่าเริงทุกเมื่อ
ผลแห่งทานอันประจักษ์ได้ในปัจจุบัน
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจทรงบัญญัติผลแห่งทานที่ประจักษ์ในปัจจุบันได้หรือไม่”
“ดูกรสีหะ ถ้าอย่างนั้น เราจักย้อนถามท่านในปัญหาข้อนี้ก่อน ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นตามชอบใจท่าน
ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ในเมืองเวสาลีนี้ มีบุรุษอยู่ ๒ คน
คนหนึ่งไม่มีศรัทธา...
ตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี
คนหนึ่งมีศรัทธา...
เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อจะอนุเคราะห์พึงอนุเคราะห์คนไหนก่อน จะเป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ จักอนุเคราะห์คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสีก่อนอย่างไรได้
พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์คนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุนนั้นก่อนเทียว
ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไป พึงเข้าไปหาใครก่อน
จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา...
ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี
หรือคนที่มีศรัทธา...
เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไปหา จักเข้าไปหาคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสีนั้นก่อนอย่างไรได้
พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไปหา พึงเข้าไปหาคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุนนั้นก่อนเทียว”
“ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อรับ พึงรับของใครก่อน
จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา...
ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี
หรือคนที่มีศรัทธา...
เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อรับ จักรับของคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสีนั้นก่อนอย่างไรได้
ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อรับ พึงรับของคนนั้นก่อนเทียว”
“ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อแสดงธรรมพึงแสดงแก่คนไหนก่อน
จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา...
ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี
หรือคนที่มีศรัทธา...
เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม จักแสดงแก่คนนั้นก่อนอย่างไรได้
ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม พึงแสดงแก่คนนั้นก่อนเทียว”
“ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
กิตติศัพท์อันงามของคนไหน พึงขจรไป
จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา...
ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี
หรือคนที่มีศรัทธา...
เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี กิตติศัพท์อันงามของคนนั้น จักขจรไปได้อย่างไร
ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน กิตติศัพท์อันงามของคนนั้นเทียว พึงขจรไป”
“ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
คนไหนที่จะพึงเข้าไปสู่บริษัทใด ๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท พึงเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป
จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา...
ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี
หรือคนที่มีศรัทธา...
เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี จักเข้าไปสู่บริษัทใด ๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จักเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไปอย่างไรได้
ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน เขาผู้นั้นพึงเข้าไปสู่บริษัทใดๆก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท พึงเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป”
“ดูกรสีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
คนไหนเมื่อตายไปจะพึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา...
ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี
หรือคนที่มีศรัทธา...
เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อย่างไรได้
ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการ ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์เองก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้
ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี
พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่ออนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ข้าพระองค์ก่อน
เมื่อเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาข้าพระองค์ก่อน
เมื่อรับ ย่อมรับของข้าพระองค์ก่อน
เมื่อแสดงธรรม ย่อมแสดงแก่ข้าพระองค์ก่อน
กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ขจรไปแล้วว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นการกบุคคล เป็นผู้อุปัฏฐากพระสงฆ์
ข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี เข้าไปสู่บริษัทใด ๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์เองก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้
แต่พระผู้มีพระภาคตรัส ผลแห่งทานใดกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า
ดูกรสีหะ ทายก ทานบดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ข้าพระองค์ยังไม่รู้ผลแห่งทานนั้น และในผลแห่งทานข้อนี้ ข้าพระองค์ขอดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค”
“อย่างนั้น สีหะ อย่างนั้น สีหะ
ดูกรสีหะ ทายก ทานบดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
อานิสงส์แห่งการให้ทาน
“พระผู้มีพระภาคได้ตรัส อานิสงส์แห่งการให้ทานกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้
๕ ประการเป็นไฉน คือ
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ๑
สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑
กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป ๑
ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ๑
ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้แล
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก
...ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ
สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์
ประกอบพรหมจรรย์
...ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ
สัปบุรุษเหล่านั้น
...ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา
เขาได้ทราบชัดแล้ว
...ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้”
กาลในการให้ทาน
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกาลทาน กับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้
๕ ประการเป็นไฉน คือ
ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑
ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑
ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑
ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ๑
ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑
กาลทาน ๕ ประการนี้แล
ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์
ปราศจากความตระหนี่
...ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้
เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส
...ทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์
ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนา
หรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น
...ทักขิณาทานนั้น ย่อมไม่มีผลบกพร่อง
เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น
แม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ
…ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ
เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอยจึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก
อ้างอิง : สีหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๔ หน้า ๓๔-๓๕
สีหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๕๔ หน้า ๖๘-๗๐
ทานานิสังสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๕ หน้า ๓๕
กาลทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๓๖ หน้า ๓๖