สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สงสารนี้กำหนดที่สุด
เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้
ท่องเที่ยวไปมาอยู่
…ที่สุด เบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ
เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง พึงมีโครงกระดูก ร่างกระดูก กองกระดูกใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้ ถ้ากองกระดูกนั้น พึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่ได้สั่งสมไว้แล้ว ก็ไม่พึงหมดไป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุด
เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้
ท่องเที่ยวไปมาอยู่
ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ
พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้
พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง
พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้”
พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
“เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า
กระดูกของบุคคลคนหนึ่งที่สะสมไว้กัปหนึ่ง พึงเป็นกองเท่าภูเขา
ก็ภูเขาที่เรากล่าวนั้น คือ ภูเขาใหญ่ชื่อเวปุลละ อยู่ทิศเหนือของภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ อันมีภูเขาล้อมรอบ
เมื่อใดบุคคลเห็นอริยสัจ คือ
ทุกข์
เหตุเกิดแห่งทุกข์
ความล่วงพ้นทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘
…อันยังสัตว์ให้ถึงความสงบทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ
เมื่อนั้น เขาท่องเที่ยว ๗ ครั้ง เป็นอย่างมาก ก็เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ดังนี้แล”
อ้างอิง : ปุคคลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๔๐-๔๔๒ หน้า ๑๘๓-๑๘๔
ภาพประกอบ
www.pixabay.com