อุเทสวิภังคสูตร - อุเทสและวิภังค์



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย”

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุทเทสวิภังค์แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังอุทเทสวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป”

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

“ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่
ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก
ม่ตั้งสงบอยู่ภายใน
และไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น

เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก
ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน
และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น
ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป
"

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตดังนี้ ครั้นแล้วพระองค์ผู้สุคตจึงเสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปยังพระวิหาร

ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึงได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้ว่า

“ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ใครหนอแล จะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้”

ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

"ท่านพระมหากัจจายนะนี้แล อันพระศาสดาและภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนยกย่องสรรเสริญแล้ว ก็ท่านพระมหากัจจายนะ พอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้

ถ้ากระไร พวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะยังที่อยู่ แล้วพึงสอบถามเนื้อความนั้นกะท่านพระมหากัจจายนะเถิด"

ต่อนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะยังที่อยู่ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจายนะดังนี้ว่า

“ดูกรท่านกัจจายนะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทศโดยย่อแก่พวกกระผม มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดารก็เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ขอท่านพระมหากัจจายนะโปรดจำแนกเนื้อความเถิด”

ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวว่า

“ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ พึงสำคัญแก่นของต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นตั้งอยู่ว่า ควรหาได้ที่กิ่งและใบ ละเลยรากและลำต้นเสียฉันใด

ข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่พร้อมหน้าท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านพากันสำคัญเนื้อความนั้นว่าพึงสอบถามเราได้ ล่วงเลยพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสีย

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ทรงมีจักษุ มีญาณ มีธรรม มีความประเสริฐ ตรัสบอก ทรงนำออกซึ่งประโยชน์ ประทานอมตธรรม ทรงเป็นเจ้าของธรรม ทรงดำเนินตามนั้น และก็เป็นกาลสมควรแก่พระองค์แล้วที่ท่านทั้งหลายจะพึงสอบถามเนื้อความนี้กะพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด

“ดูกรท่านกัจจายนะ จริงอย่างนั้น
แต่ว่าท่านพระมหากัจจายนะอันพระศาสดาและพวกภิกษุผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนยกย่องสรรเสริญแล้ว และท่านพอจะจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้

ขอท่านพระมหากัจจายนะอย่าทำความหนักใจ โปรดจำแนกเนื้อความเถิด”

“ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ข้าพเจ้าจักกล่าวต่อไป”

“ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ”

“ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทศโดยย่อว่า 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่
ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก
ม่ตั้งสงบอยู่ภายใน
และไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น

เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก
ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน
และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น
ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป

มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปยังพระวิหาร ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้

ความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรเรียกว่า ความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ
แล่นไปตามนิมิตคือ รูป
กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ รูป
ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ รูป
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ รูป

เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต
แล่นไปตามนิมิตคือเสียง
กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ เสียง
ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ เสียง
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ เสียง

เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ
แล่นไปตามนิมิตคือกลิ่น
กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ กลิ่น
ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ กลิ่น
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ กลิ่น

เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา
แล่นไปตามนิมิตคือรส
กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ รส
ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ รส
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ รส

เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย
แล่นไปตามนิมิตคือ โผฏฐัพพะ
กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ โผฏฐัพพะ
ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ โผฏฐัพพะ
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ โผฏฐัพพะ

เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน
แล่นไปตามนิมิตคือธรรมารมณ์
กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ ธรรมารมณ์
ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ ธรรมารมณ์
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ ธรรมารมณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เรียกว่า ความรู้สึกฟุ้งไป ซ่านไปภายนอก

ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรเรียกว่า ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลายความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ
ไม่แล่นไปตามนิมิตคือรูป
ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ รูป
ไม่ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ รูป
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ รูป

เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต
ไม่แล่นไปตามนิมิตคือเสียง
ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ เสียง
ไม่ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ เสียง
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ เสียง

เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ
ไม่แล่นไปตามนิมิตคือกลิ่น
ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ กลิ่น
ไม่ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ กลิ่น
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ กลิ่น

เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา
ไม่แล่นไปตามนิมิตคือรส
ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ รส
ไม่ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ รส
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ รส

เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย
ไม่แล่นไปตามนิมิตคือโผฏฐัพพะ
ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ โผฏฐัพพะ
ไม่ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ โผฏฐัพพะ
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ โผฏฐัพพะ

เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน
ไม่แล่นไปตามนิมิตคือธรรมารมณ์
ไม่กำหนัดด้วยยินดีนิมิตคือ ธรรมารมณ์
ไม่ผูกพันด้วยยินดีนิมิตคือ ธรรมารมณ์
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีนิมิตคือ ธรรมารมณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เรียกว่า ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก

จิตตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรเรียกว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
เข้าปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น
แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ประกอบด้วยสัญโญชน์ คือ ความยินดีปีติและสุข เกิดแต่วิเวก

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก

ภิกษุเข้าทุติยฌาน
มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น
แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ประกอบด้วยสัญโญชน์ คือ ความยินดีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิ

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก

ภิกษุเข้าตติยฌาน
ภิกษุเป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่

ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น
แล่นไปตามอุเบกขา
กำหนัดด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา
ผูกพันด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา
ประกอบด้วยสัญโญชน์ คือ ความยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก

ภิกษุเข้าจตุตถฌาน
อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อน ๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น
แล่นไปตามอทุกขมสุขเวทนา
กำหนัดด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา
ผูกพันด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา
ประกอบด้วยสัญโญชน์คือความยินดีอทุกขมสุขเวทนา

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เรียกว่า จิตตั้งสงบอยู่ภายใน

จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม

เข้าปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น
ไม่แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ไม่กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ไม่ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์ คือ ความยินดีปีติและสุขเกิดแต่วิเวก

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก

ภิกษุเข้าทุติยฌาน
มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้นเพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น
ไม่แล่นไปตามปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ไม่กำหนัดด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ไม่ผูกพันด้วยยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์ คือ ความยินดีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก

ภิกษุเข้าตติยฌาน
ภิกษุเป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่

ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น
ไม่แล่นไปตามอุเบกขา
ไม่กำหนัดด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา
ไม่ผูกพันด้วยยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์ คือ ความยินดีสุขเกิดแต่อุเบกขา

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก

ภิกษุเข้าจตุตถฌาน
อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อน ๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

ความรู้สึกที่มีแก่ภิกษุนั้น
ไม่แล่นไปตามอทุกขมสุขเวทนา
ไม่กำหนัดด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา
ไม่ผูกพันด้วยยินดีอทุกขมสุขเวทนา
ไม่ประกอบด้วยสัญโญชน์ คือ ความยินดีอทุกขมสุขเวทนา

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เรียกว่า จิตไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน


สะดุ้งเพราะตามถือมั่น

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไรย่อมเป็นอันสะดุ้งเพราะตามถือมั่น

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้
เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ

ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมเล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง

เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง

เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในอัตตาบ้าง

เล็งเห็นอัตตาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นของเขาย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้

เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เขาย่อมมีความรู้สึกปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดแต่ความปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมตั้งครอบงำจิตของเขาได้


เพราะจิตถูกครอบงำ เขาจึงเป็นผู้หวาดเสียว คับแค้น ห่วงใย และสะดุ้ง เพราะตามถือมั่น

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เป็นอันสะดุ้งเพราะตามถือมั่น

ไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อย่างไร ย่อมเป็นอันไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น

อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ได้ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ

ได้เห็นสัตบุรุษ
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมไม่เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นอัตตาบ้าง

ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง

ไม่เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในอัตตาบ้าง

ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นของท่านย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้

เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ท่านย่อมมีความรู้สึกไม่ปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ความสะดุ้งและความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม อันเกิดความปรวนแปรไปตามความแปรปรวนของรูป  เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมไม่ตั้งครอบงำจิตของท่านได้


เพราะจิตไม่ถูกครอบงำ ท่านจึงเป็นผู้ไม่หวาดเสียว ไม่คับแค้น ไม่ห่วงใยและไม่สะดุ้ง เพราะไม่ถือมั่น

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อย่างนี้แล เป็นอันไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทศโดยย่อ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้ายังพระวิหาร ข้าพเจ้าทราบเนื้อความได้โดยพิสดารอย่างนี้

ก็แหละ ท่านทั้งหลายหวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำคำพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้นเถิด”

ภิกษุเหล่านั้นยินดี อนุโมทนาภาษิตของท่านพระมหากัจจายนะแล้ว ลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ

ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

 “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทศโดยย่อแก่พวกข้าพระองค์ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงพิจารณาโดยอาการที่เมื่อพิจารณาอยู่ ความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่พึงสะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น เมื่อความรู้สึกไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอก ไม่ตั้งสงบอยู่ภายใน และไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น ย่อมไม่มีความเกิดแห่งชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ และสมุทัยต่อไป ดังนี้

มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พวกข้าพระองค์นั้นได้มีข้อปรึกษากันอย่างนี้

ใครหนอแลจะพึงจำแนก เนื้อความแห่งอุทเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อนี้ให้พิสดารได้ พวกข้าพระองค์จึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะยังที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความกะท่านแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านพระมหากัจจายนะจำแนกเนื้อความแก่พวกข้าพระองค์นั้นแล้วโดยอาการดังนี้ โดยบทดังนี้ และโดยพยัญชนะดังนี้”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหากัจจายนะเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากพวกเธอสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็จะพึงพยากรณ์เนื้อความนั้นอย่างเดียวกับที่มหากัจจายนะพยากรณ์แล้วเหมือนกัน

ก็แหละ เนื้อความอุทเทศนั้นเป็นดังนี้แล พวกเธอจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนี้เถิด”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล


 

 

 

อ้างอิง : อุทเทสวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๖๓๘-๖๕๒ หน้า ๓๑๐-๓๑๘

 

ภาพประกอบ

ชื่อภาพ : Nature
ศิลปิน   : พิชัย นิรันต์