กัจจานโคตตสูตร - เหตุให้ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ



พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระกัจจานโคตต์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า


“พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า สัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงจะชื่อว่า สัมมาทิฐิ”

สัมมาทิฐิ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

 “ดูกรกัจจานะ โลกนี้โดยมากอาศัยส่วน ๒ อย่าง คือ

ความมี ๑
ความไม่มี ๑

ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลก
ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว
ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี

เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลก
ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว
ความมีในโลก ย่อมไม่มี

โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบาย อุปาทาน และอภินิเวส (ความยึดมั่น) แต่พระอริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ ซึ่งอุบายและอุปาทานนั้น อันเป็นอภินิเวสและอนุสัย อันเป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิตว่า อัตตาของเรา ดังนี้

ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า

ทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น
...ย่อมบังเกิดขึ้น
ทุกข์เมื่อดับ ...ย่อมดับ

พระอริยสาวกนั้น มีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล กัจจานะ จึงชื่อว่า สัมมาทิฐิ

อิทัปปัจจยตา (ปัจจยาการ)

ดูกรกัจจานะ
ส่วนสุดข้อที่ ๑ นี้ว่า สิ่งทั้งปวง มีอยู่
(สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าตนและโลกเที่ยง)
ส่วนสุดข้อที่ ๒ นี้ว่า สิ่งทั้งปวง ไม่มี
(อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าตายแล้วสูญ)

ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ นั้นว่า

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติ เป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสก ปริเทว ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

เพราะอวิชชานั่นแหละ
 ดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ
​เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสก ปริเทว ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๒-๔๔ หน้าที่ ๑๕