พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมมากด้วยความสุขโสมนัสอยู่ในปัจจุบัน และย่อมปรารภอุบายเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
อุบายเพื่อความสิ้นอาสวะ
ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
รู้ประมาณในโภชนะ ๑
ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ ๑
ก็ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษาจักขุนทรีย์
ชื่อว่า ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ภิกษุฟังเสียงด้วยหูแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมโสตินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษาโสตินทรีย์
ชื่อว่า ถึงความสำรวมในโสตินทรีย์
ภิกษุดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมฆานินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษาฆานินทรีย์
ชื่อว่า ถึงความสำรวมในฆานินทรีย์
ภิกษุลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมชิวหินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษาชิวหินทรีย์
ชื่อว่า ถึงความสำรวมในชิวหินทรีย์
ภิกษุถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมกายินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษากายินทรีย์
ชื่อว่า ถึงความสำรวมในกายินทรีย์
ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่า รักษามนินทรีย์
ชื่อว่า ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายสารถีฝึกม้าผู้ฉลาด เป็นอาจารย์ฝึกฝนม้า ขึ้นสู่รถม้าอันเทียมแล้ว ซึ่งมีประตักอันวางไว้แล้ว ถือเชือกด้วยมือซ้าย ถือประตักด้วยมือขวา ขับไปทางข้างหน้าก็ได้ ถอยกลับข้างหลังก็ได้ ในถนนใหญ่ ๔ แยก ซึ่งมีพื้นเรียบดี ตามความประสงค์ ฉันใด
ภิกษุย่อมศึกษาเพื่อจะรักษา ศึกษาเพื่อจะสำรวม ศึกษาเพื่อจะฝึกฝน ศึกษาเพื่อจะระงับอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารด้วยมนสิการว่า
เราไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อความมัวเมา เพื่อจะประดับ เพื่อจะตกแต่ง
บริโภคเพียงเพื่อดำรงอยู่แห่งร่างกายนี้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อจะกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น การยังชีพให้เป็นไป ความไม่มีโทษและความอยู่สบาย จักมีแก่เรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงฉาบทาผิวกาย ก็เพียงเพื่อต้องการเสพ หรือบุรุษพึงหยอดน้ำมันเพลารถก็เพียงเพื่อต้องการขนสิ่งของไปได้ ฉันใด
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารด้วยมนสิการว่า เราไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อความมัวเมา เพื่อจะประดับ เพื่อจะตกแต่งผิว บริโภคเพียงเพื่อดำรงอยู่แห่งร่างกายนี้ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อจะกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น การยังชีพให้เป็นไป ความไม่มีโทษและความอยู่สบายจักมีแก่เรา ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่อย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นความดีด้วยการเดิน การนั่ง ในเวลากลางวัน
พอถึงกลางคืนตอนปฐมยาม ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นความดี ด้วยการเดิน การนั่ง
ในตอนมัชฌิมยามแห่งราตรี ย่อมสำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะทำไว้ในใจซึ่งอุฏฐานสัญญา (ซึ่งการจะลุกขึ้น)
พอถึงปัจฉิมยามแห่งราตรี ก็ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นความดีด้วยการเดิน การนั่ง
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่อย่างนี้แล
ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้ ชื่อว่าย่อมมากด้วยความสุขโสมนัสอยู่ในปัจจุบัน และย่อมปรารภอุบายเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
อ้างอิง : รถสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๑๗–๓๑๙ หน้า ๑๙๕-๑๙๖
ภาพ : วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
www.amuletacademy.com