สังฆสูตร – คนล้างฝุ่นล้างทอง



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครื่องเศร้าหมองอย่างหยาบของทอง คือ ดินร่วน ทราย ก้อนกรวด และกระเบื้อง มีอยู่

คนล้างฝุ่นหรือลูกมือของคนล้างฝุ่น เรี่ยรายทองนั้นเทลงไปในรางน้ำแล้วล้าง ล้างแล้วล้างอีก ล้างจนหมด


เมื่อล้างเครื่องเศร้าหมองอย่างหยาบหมดแล้ว ทำมันให้สุดสิ้นแล้ว

ทองยังคงมีเครื่องเศร้าหมองอย่างกลาง คือ ก้อนกรวดอย่างละเอียด ทรายอย่างหยาบ

คนล้างฝุ่นหรือลูกมือคนล้างฝุ่น ย่อมล้างทองนั้น ล้างแล้วล้างอีก ล้างจนหมด

เมื่อล้างเครื่องเศร้าหมองอย่างกลางหมดแล้ว ทำมันให้สุดสิ้นแล้ว

ทองยังคงมีเครื่องเศร้าหมองอย่างละเอียด คือ ทรายอย่างละเอียด และสะเก็ดกระลำพัก

คนล้างฝุ่นหรือลูกมือของคนล้างฝุ่น ย่อมล้างทองนั้น ล้างแล้วล้างอีก ล้างจนหมด

เมื่อล้างเครื่องเศร้าหมองอย่างละเอียดจนหมดแล้ว ทำมันให้สิ้นสุดแล้ว

คราวนี้ยังคงเหลือ กองทรายทอง

ช่างทองหรือลูกมือของช่างทอง ใส่ทองลงในเบ้าหลอม แล้วเป่าทองนั้น เป่าแล้วเป่าเล่า เป่าจนได้ที่ ยังไม่ติดสนิทแนบเป็นเนื้อเดียวกัน ยังไม่ถูกนำเอารสฝาดออก

มันย่อมไม่อ่อน ไม่ควรแก่การงาน ไม่ผุดผ่อง เป็นของแตกง่าย และเข้าไม่ถึงเพื่อกระทำโดยชอบ

ช่างทองหรือลูกมือของช่างทองย่อมเป่าทองนั้น เป่าแล้วเป่าเล่า เป่าจนได้ที่

ในสมัยใด ทองนั้นถูกเป่า ถูกเป่าแล้วเป่าเล่า ถูกเป่าจนได้ที่ ติดสนิทแนบเป็นเนื้อเดียวกัน ถูกนำเอารสฝาดออกหมด มันย่อมเป็นของอ่อน ควรแก่การงาน ผุดผ่อง ไม่แตกหัก เข้าถึงเพื่อทำโดยชอบ

เขามุ่งหมายสำหรับเครื่องประดับชนิดใด ๆ คือ แผ่นทอง ต่างหู เครื่องประดับคอ หรือดอกไม้ทองก็ดี เครื่องประดับชนิดนั้น ย่อมสมความประสงค์ของเขา ฉันใด

ฉันนั้นเหมือนกันแล อุปกิเลสอย่างหยาบ คือ

กายทุจริต
วจีทุจริต
มโนทุจริต

ของภิกษุผู้ประกอบอธิจิต ยังมีอยู่

ภิกษุผู้มีสัญชาติเป็นคนฉลาด ย่อมละทิ้ง บรรเทาอุปกิเลสอย่างหยาบของใจตนนั้นเสีย ทำให้สิ้นไป ให้หมดไป

เมื่อละมันได้เด็ดขาด ทำให้มันสิ้นไปแล้ว ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต ยังคงมี

อุปกิเลสอย่างกลาง คือ

กามวิตก
พยาบาทวิตก
วิหิงสาวิตก

ภิกษุผู้มีสัญชาติเป็นคนฉลาด ย่อมละทิ้ง บรรเทาอุปกิเลสอย่างกลางของใจตนนั้นเสีย ทำให้สิ้นไป ให้หมดไป

เมื่อละมันได้เด็ดขาด ทำให้มันสิ้นสุดแล้ว ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต ยังคงมี

อุปกิเลสอย่างละเอียด คือ

ความวิตกถึงชาติ
ความวิตกถึงชนบท
และวิตกอันปฏิสังยุตด้วยความไม่ดูหมิ่น

ภิกษุผู้มีสัญชาติเป็นคนฉลาด ย่อมละทิ้ง บรรเทาอุปกิเลสอย่างละเอียดของใจตนนั้นเสีย ทำให้สิ้นไป ให้หมดไป

เมื่อละมันได้เด็ดขาด ทำมันให้สิ้นสุดไปแล้ว ยังคงเหลือแต่ ธรรมวิตก (วิปัสสนูปกิเลส) ต่อไปเท่านั้น

สมาธินั้นยังไม่ละเอียด ไม่ประณีต ไม่ได้ความสงบระงับ ยังไม่ถึงความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ยังมีการห้ามการข่มกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

สมัยใด จิตดำรงอยู่ในภายใน สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่

สมัยนั้น สมาธินั้นเป็นธรรมละเอียด ประณีต ได้ความสงบระงับ ถึงความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีการห้ามการข่มกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง

ภิกษุนั้นจะโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองใด ๆ

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เป็นอยู่

อิทธิวิธีญาณ

ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า เราพึงแสดงฤทธิ์หลายประการ คือ

คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้

ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้

ทะลุกำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้

ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้

เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้

ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยฝ่ามือก็ได้

ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เป็นอยู่

ทิพยโสตญาณ

ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า เราพึงฟังเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งในที่ไกลและใกล้ ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เป็นอยู่

เจโตปริยญาณ

ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจของตน คือ

จิตมีราคะพึงรู้ว่า จิตมีราคะ หรือ
จิตปราศจากราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะก็พึงรู้ว่า จิตมีโทสะ หรือ
จิตปราศจากโทสะ ก็พึงรู้ว่า จิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะก็พึงรู้ว่า จิตมีโมหะ หรือ
จิตปราศจากโมหะ ก็พึงรู้ว่า จิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ก็พึงรู้ว่า จิตหดหู่ หรือ
จิตฟุ้งซ่าน ก็พึงรู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรคตก็พึงรู้ว่า จิตเป็นมหรคต หรือ
จิตไม่เป็นมหรคต ก็พึงรู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็พึงรู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือ
จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็พึงรู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิก็พึงรู้ว่า จิตเป็นสมาธิ หรือ
จิตไม่เป็นสมาธิ ก็พึงรู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้นก็พึงรู้ว่า จิตหลุดพ้น หรือ
จิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่เป็นอยู่

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า เราพึงระลึกชาติก่อน ๆ ได้เป็นอันมาก คือ

พึงระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง... ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมาก ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง

ว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้

เราพึงระลึกชาติก่อน ๆ ได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เป็นอยู่

จุตูปปาตญาณ

ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์

พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า

สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

เราพึงเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่เป็นอยู่

อาสวักขยญาณ

ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เป็นอยู่

 

 

อ้างอิง : สังฆสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๔๑ หน้า ๒๔๐-๒๔๔

 

ภาพ : istockphoto @clearviewstock