พรหมชาลสูตร ตอนที่ ๓ - อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔



ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ ๔๔ ประการ


ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๔๔ ประการ

สัญญีทิฏฐิ ๑๖

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ด้วยเหตุ ๑๖ ประการ

ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิและบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย มีสัญญา

สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า เบื้องหน้าแต่ตาย

 ๑. อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา

 ๒. อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา

 ๓. อัตตาทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญา

 ๔. อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน มีสัญญา

 ๕. อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญา

 ๖. อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญา

 ๗. อัตตาทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน มีมีสัญญา

 ๘. อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน มีสัญญา

 ๙. อัตตาที่มีสัญญาอย่างเดียวกัน ยั่งยืน มีสัญญา

 ๑๐. อัตตาที่มีสัญญาต่างกัน ยั่งยืน มีสัญญา

 ๑๑. อัตตาที่มีสัญญาย่อมเยา ยั่งยืน มีสัญญา

 ๑๒. อัตตาที่มีสัญญาหาประมาณมิได้ ยั่งยืน มีสัญญา

 ๑๓. อัตตาที่มีสุขอย่างเดียว ยั่งยืน มีสัญญา

 ๑๔. อัตตาที่มีทุกข์อย่างเดียว ยั่งยืน มีสัญญา

 ๑๕. อัตตาที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์ ยั่งยืน มีสัญญา

 ๑๖. อัตตาที่มีทุกข์ก็มิใช่ สุขก็มิใช่ ยั่งยืน มีสัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย มีสัญญา ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ด้วยเหตุ ๑๖ ประการนี้แล

ก็สมณพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิและบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๑๖ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี

อสัญญีทิฏฐิ ๘

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ด้วยเหตุ ๘ ประการ

ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิ และบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ด้วยเหตุ ๘ ประการ

สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า เบื้องหน้าแต่ตาย

 ๑. อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน ไม่มีสัญญา

 ๒. อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน ไม่มีสัญญา

 ๓. อัตตาทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป ยั่งยืน ไม่มีสัญญา

 ๔. อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน ไม่มีสัญญา

 ๕. อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา

 ๖. อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา

 ๗. อัตตาทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน ไม่มีสัญญา

 ๘. อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน ไม่มีสัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายไม่มีสัญญา ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย ไม่มีสัญญา ด้วยเหตุ ๘ ประการนี้แล

ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง มีทิฏฐิและบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย ไม่มีสัญญา สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๘ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี

เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ ๘

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยเหตุ ๘ ประการ

ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิและบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมบัญญัติว่า เบื้องหน้าแต่ตาย

 ๑. อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

 ๒. อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

 ๓. อัตตาทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

 ๔. อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

 ๕. อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

 ๖. อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

 ๗. อัตตาทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

 ๘. อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีทิฏฐิว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ย่อมบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยเหตุ ๘ ประการนี้แล

ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดมีทิฏฐิและบัญญัติว่า อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตาย มีสัญญาก็มิใช่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๘ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี

อุจเฉททิฏฐิ ๗

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่า ขาดสูญ ย่อมบัญญัติ ความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๗ ประการ

ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญ เหล่านั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า ขาดสูญ ย่อมบัญญัติ ความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๗ ประการ

ประการที่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า

เพราะ อัตตานี้มีรูป สำเร็จด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เพราะกายแตก ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เมื่อตาย ย่อมเลิกเกิด ฉะนั้น อัตตาจึงเป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์อย่างนี้

ประการที่ ๒

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่นกล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้นอย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะขาดสูญอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่เป็นทิพย์ มีรูปเป็นกามาพจร บริโภคกวฬิงการาหาร

เพราะกายแตก อัตตาย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เมื่อตาย ย่อมเลิกเกิด อัตตาจึงเป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์อย่างนี้

ประการที่ ๓

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่น กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะขาดสูญอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอย่างอื่นอีกที่เป็นทิพย์ มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบครัน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง

เพราะกายแตก อัตตาจึงเป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์อย่างนี้

ประการที่ ๔

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่น กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะขาดสูญอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุเพียงเท่านี้  ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจในนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง

เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เบื้องหน้าแต่ตาย ย่อมเลิกเกิด อัตตาจึงเป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์อย่างนี้

ประการที่ ๕

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่น กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะขาดสูญอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุเพียงเท่านี้  ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ มีอารมณ์ว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง

เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เมื่อตาย ย่อมเลิกเกิด อัตตาจึงเป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์อย่างนี้

ประการที่ ๖

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่น กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะขาดสูญอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ มีอารมณ์ว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง

เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เมื่อตายย่อมเลิกเกิด อัตตาจึงเป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์อย่างนี้

ประการที่ ๗

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่น กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะขาดสูญอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง

เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เมื่อตายตาย ย่อมเลิกเกิด อัตตาจึงเป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นมีทิฏฐิว่า ขาดสูญ ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิด ของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๗ ประการนี้แล  

สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพมีทิฏฐิว่า ขาดสูญ ย่อมบัญญัติ ความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิด ของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๗ ประการนี้ เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี

ทิฏฐธรรมนิพพานทิฏฐิ ๕

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า นิพพานในปัจจุบัน ย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๕ ประการ

ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า นิพพานในปัจจุบัน บัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่

ประการที่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ อย่างนี้ว่า

เพราะอัตตานี้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม เพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณห้า ฉะนั้น จึงเป็นอันบรรลุนิพพานในปัจจุบัน อันเป็นธรรมอย่างยิ่ง

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติว่านิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่อย่างนี้

ประการที่ ๒

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่น กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพราะเหตุว่ากามทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

เพราะกามทั้งหลายแปรปรวนเป็นอย่างอื่น จึงเกิดความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ โทมนัส และความคับใจ

เพราะอัตตานี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ฉะนั้น จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน อันเป็นธรรมอย่างยิ่ง

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่อย่างนี้

ประการที่ ๓

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่น กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพราะเหตุว่าปฐมฌานนั้น ท่านกล่าวว่าหยาบ ด้วยยังมีวิตกและวิจารอยู่

เพราะอัตตานี้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตก วิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์อย่างนี้

ประการที่ ๔

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่น กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพราะเหตุว่าทุติยฌานนั้น ท่านกล่าวว่าหยาบ ด้วยยังมีปีติเป็นเหตุให้จิตกระเหิมอยู่

เพราะอัตตานี้มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติเสวยสุขอยู่ จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์อย่างนี้

ประการที่ ๕

สมณะหรือพราหมณ์พวกอื่น กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อย่างนี้ว่า

อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่อัตตานี้ใช่จะบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพราะเหตุว่าตติยฌานนั้น ท่านกล่าวว่าหยาบ ด้วยจิตยังคำนึงถึงสุขอยู่

เพราะอัตตานี้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อน ๆ ได้ จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบันอันเป็นธรรมอย่างยิ่ง

พวกหนึ่งย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้น มีทิฏฐิว่านิพพานในปัจจุบัน ย่อมบัญญัติว่า นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ผู้ปรากฏอยู่ ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้แล 

ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดมีทิฏฐิว่า นิพพานในปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๕ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๔๔ ประการนี้แล


ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมกล่าวด้วยเหตุ ๔๔ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านี้ บุคคลถืออย่างนั้นแล้ว ยึดอย่างนั้นแล้ว ย่อมมีคติอย่างนั้น มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น

และตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย

เมื่อไม่ยึดมั่น...
ก็ทราบความเกิดขึ้น... ความดับไป...
คุณ และโทษของเวทนาทั้งหลาย
กับทั้งอุบายเป็นเครื่องออกไป
จากเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง
จึงทราบความดับได้เฉพาะตน เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แลที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ

 

 

 

อ้างอิง : พรหมชาลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๔๕-๕๐  หน้าที่ ๒๘-๓๗

ภาพ : www.pinterest.com