5-05 บุพกรรมของท้าวสักกะ



ถ้ำอินทสาละ นครราชคฤห์

ในอดีตกาล มาณพชื่อว่า มฆะ ในอจลคามในแคว้นมคธ ไปสู่สถานที่ทำงานในบ้าน คุ้ยฝุ่นด้วยปลายเท้าในที่ที่ตนยืนแล้ว ได้ทำให้เป็นรมณียสถานแล้วพักอยู่ อีกคนหนึ่งเอาแขนผลักเขา นำเขาออกจากที่นั้น แล้วพักอยู่ในที่นั้นเสียเอง

เขาไม่โกรธต่อคนนั้น เขาทำที่อื่นให้เป็นรมณียสถานแล้วพักอยู่ คนอื่นก็เอาแขนผลักเขา นำเขาออกมาจากที่นั้น แล้วพักอยู่ในที่นั้นเสียเอง

เขาไม่โกรธแม้ต่อคนนั้น เขาทำที่อื่นให้เป็นรมณียสถานแล้วก็พักอยู่ บุรุษทั้งหลายที่ออกไปแล้ว ๆ จากเรือน ก็เอาแขนผลักเขา นำเขาออกจากสถานที่เขาทำความสะอาดแล้ว ๆ เขาคิดเสียว่า

“ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับสุขแล้ว  กรรมนี้พึงเป็นกรรมให้ความสุขแก่เรา”

วันรุ่งขึ้น เขาได้ถือเอาจอบไปทำที่เท่ามณฑลแห่งลานให้เป็นรมณียสถานแล้ว ปวงชนได้ไปพักอยู่ในที่นั้นนั่นแล

ครั้นในฤดูหนาว เขาได้ก่อไฟให้คนเหล่านั้น  ในฤดูร้อน ได้ให้น้ำ ต่อมา เขาคิดว่า

“ชื่อรมณียสถานเป็นที่รักของคนทั้งปวง ชื่อว่าไม่เป็นที่รักของใคร ๆ ไม่มี  จำเดิมแต่นี้ไป เราควรทำหนทางให้ราบเรียบ”

ดังนี้แล้ว จึงออกไปจากบ้านแต่เช้าตรู่ ทำหนทางให้ราบเรียบ เที่ยวตัดรานกิ่งไม้ที่ควรตัดรานเสีย

มฆมาณพได้สหาย ๓๓ คน

ภายหลัง บุรุษอีกคนหนึ่งเห็นเขาแล้ว กล่าวว่า

“ทำอะไรเล่า เพื่อน”

มฆมาณพ ตอบว่า

“ฉันทำหนทางเป็นที่ไปสวรรค์ของฉันละซิ เพื่อน”

“ถ้ากระนั้น แม้ฉันก็จะเป็นเพื่อนของท่าน”

“จงเป็นเถอะเพื่อน ธรรมดาสวรรค์ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก”

ตั้งแต่นั้นมา ก็ได้เป็น ๒ คน ด้วยกัน แม้ชายอื่นเห็นเขาทั้งสองแล้ว ถามเหมือนอย่างนั้นนั่นแล พอทราบแล้ว ก็เป็นสหายของคนทั้งสอง แม้คนอื่น ๆ อีกก็ได้ทำอย่างนั้น รวมคนทั้งหมด ๓๓ คน

สหาย ๓๓ คนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร

ชนเหล่านั้นทั้งหมดในมือถือวัตถุมีจอบ เป็นต้น กระทำหนทางประมาณ ๑ โยชน์ และ ๒ โยชน์ ให้ราบเรียบ

นายบ้านเห็นชายเหล่านั้นแล้ว คิดว่า

“มนุษย์เหล่านี้ประกอบแล้วในฐานะที่ไม่ควรประกอบ แม้ถ้าชนเหล่านี้พึงนำวัตถุทั้งหลายมีปลาและเนื้อ เป็นต้น มาจากป่า  หรือทำสุราแล้วดื่ม หรือทำกรรมเช่นนั้นอย่างอื่น เราพึงได้ส่วนอะไร ๆ บ้าง”

ลำดับนั้น นายบ้านจึงให้เรียกพวกนั้นมาถามว่า

พวกแกเที่ยวทำอะไรกัน”

มฆมาณพตอบว่า

ทำทางสวรรค์ ขอรับ”

“ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือนทั้งหลายจะทำอย่างนั้นไม่ควร  

ควรนำวัตถุทั้งหลายมีปลาและเนื้อ เป็นต้น มาจากป่า ควรทำสุราแล้วดื่ม และควรทำการงานทั้งหลายมีประการต่าง ๆ”

ชนเหล่านั้นคัดค้านคำของนายบ้านนั้นเสีย แม้ถูกเขาว่ากล่าวซ้ำ ๆ อยู่ ก็คงคัดค้านร่ำไป นายบ้านโกรธ แล้วคิดว่า

“เราจักให้พวกมันฉิบหาย” 

จึงไปยังสำนักของพระราชา กราบทูลว่า

“ข้าพระองค์เห็นพวกโจรเที่ยวไปกันเป็นพวก พระเจ้าข้า”

พระราชาสดับแล้ว ทรงตรัสว่า  

“เธอจงไป จงจับพวกมันแล้วนำมา”

ทหารได้ทำตามรับสั่งแล้ว จับตัวชนเหล่านั้นมาแสดงแก่พระราชา พระราชามิทันได้ทรงพิจารณา ทรงบังคับว่า

พวกท่านจงให้ช้างเหยียบ”

มฆมาณพได้ให้โอวาทแก่ชนที่เหลือทั้งหลายว่า

“สหายทั้งหลาย นอกจากเมตตาแล้ว ที่พึ่งอย่างอื่นของพวกเราไม่มี  ท่านทั้งหลายไม่ต้องทำความโกรธใคร ๆ จงเป็นผู้มีจิตเสมอด้วยเมตตาจิตในพระราชา ในนายบ้านในช้างที่จะเหยียบ และในคน” 

ชนเหล่านั้นก็ได้ทำอย่างนั้น

ลำดับนั้น ช้างไม่อาจเข้าไปใกล้ชนเหล่านั้นได้เพราะอานุภาพแห่งเมตตาของชนเหล่านั้น พระราชาทรงสดับความนั้นแล้ว ตรัสว่า

“ช้างมันเห็นคนมาก จึงไม่อาจเหยียบได้ ท่านทั้งหลายจงไปเอาเสื่อลำแพนคลุมเสีย แล้วจึงให้มันเหยียบ”

เขาเอาเสื่อลำแพนคลุมชนเหล่านั้น ไสเข้าไปให้ช้างเหยียบ ช้างก็ถอยกลับไปเสียแต่ไกลเทียว

พระราชาทรงสดับประพฤติเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า

“ในเรื่องนี้ต้องมีเหตุ” 

แล้วรับสั่งให้เรียกชนเหล่านั้นมาเฝ้า ตรัสถามว่า

“พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าอาศัยเราไม่ได้อะไรหรือ”

มฆมาณพกราบทูลว่า

“อะไร พระเจ้าข้า”

“ข่าวว่า พวกเจ้าเป็นโจรเที่ยวไปในป่า ด้วยการคุมกันเป็นพวก”

“ใครกราบทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

“นายบ้าน  พ่อ”

“ขอเดชะ พวกข้าพระองค์ไม่ได้เป็นโจร  แต่พวกข้าพระองค์ชำระหนทางไปสวรรค์ของตน ๆ  จึงทำกรรมนี้ และกรรมนี้  

นายบ้านชักนำพวกข้าพระองค์ในการทำอกุศล โกรธแล้ว ประสงค์จะให้พวกข้าพระองค์ผู้ไม่ทำตามถ้อยคำของเขาฉิบหาย จึงกราบทูลอย่างนั้น”

ทีนั้น พระราชาทรงสดับถ้อยคำของชนเหล่านั้น เป็นผู้ถึงความโสมนัส ตรัสว่า

“พ่อทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานนี้ยังรู้จักคุณของพวกเจ้า เราเป็นมนุษย์กลับไม่อาจรู้ จงยกโทษแก่เราเถิด”

ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว พระราชาได้พระราชทานนายบ้านพร้อมทั้งบุตรและภริยาให้เป็นทาส ช้างตัวนั้นให้เป็นพาหนะสำหรับขี่ และบ้านนั้นให้เป็นเครื่องใช้สอยตามสบายแก่ชนเหล่านั้น

มฆมาณพกับพวกสร้างศาลา

พวกเขาพูดกันว่า

“พวกเราเห็นอานิสงส์แห่งบุญในปัจจุบันนี้ทีเดียว”

ต่างมีใจผ่องใสโดยประมาณยิ่ง ผลัดกันขึ้นช้างนั้นไป ปรึกษากันว่า

“บัดนี้ พวกเราควรทำบุญให้ยิ่งขึ้นไป

“พวกเราจะทำอะไรกัน”

“จักสร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนให้ถาวรในหนทางใหญ่ ๔ แยก”

พวกเขาจึงสั่งให้หาช่างไม้มา แล้วเริ่มสร้างศาลา แต่เพราะปราศจากความพอใจในหญิง จึงไม่ได้ให้ส่วนบุญในศาลานั้นแก่หญิงทั้งหลาย

ก็ในเรือนของมฆมาณพมีหญิง ๔ คน คือ นางสุนันทา สุจิตรา สุธรรมา สุชาดา บรรดาหญิง ๔ คนนั้น นางสุธรรมาปรึกษากับนายช่างไม้ กล่าวว่า

“พี่ ขอพี่จงทำฉันให้เป็นใหญ่ในศาลานี้เถิด”

ดังนี้แล้ว ได้ให้ค่าจ้างแก่เขา นายช่างไม้นั้นรับคำ แล้วตากไม้สำหรับทำช่อฟ้าให้แห้งเสียก่อนสิ่งอื่น แล้วถาก สลักทำไม้ช่อฟ้าให้สำเร็จ แล้วสลักอักษรว่า 'ศาลานี้ชื่อสุธรรมา'

ดังนี้แล้ว เอาผ้าพันเก็บไว้ นางสุธรรมาได้ร่วมกุศลสร้างศาลาด้วย  

ครั้นช่างไม้สร้างศาลาเสร็จแล้ว ในวันยกช่อฟ้า จึงกล่าวกะชน ๓๓ คนนั้นว่า

“นาย ตายจริง ข้าพเจ้านึกกิจที่ควรทำอย่างหนึ่งไม่ได้”

“ผู้เจริญ กิจชื่ออะไร”

“ช่อฟ้า”

“ช่างเถิด พวกเราจักนำช่อฟ้านั้นมาเอง”

“ข้าพเจ้าไม่อาจทำช่อฟ้าด้วยไม้ที่ตัดเดี๋ยวนี้ได้  ต้องได้ไม้ช่อฟ้าที่เขาตัดถากสลักแล้วเก็บไว้ในก่อนนั่นแล จึงจะใช้ได้”

“เดี๋ยวนี้ พวกเราควรทำอย่างไร”

“ถ้าในเรือนของใคร ๆ มีช่อฟ้าที่ทำไว้ขายซึ่งเขาทำเสร็จแล้วเก็บไว้ไซร้  ควรแสวงหาช่อฟ้านั้น”

พวกเขาแสวงหาอยู่ เห็นในเรือนของนางสุธรรมา แล้วให้ทรัพย์พันหนึ่ง ก็ไม่ได้ด้วยทรัพย์ที่เป็นราคา เมื่อนางสุธรรมาพูดว่า

“ถ้าพวกท่านทำฉันให้มีส่วนบุญในศาลาด้วยไซร้ ฉันจักให้”

“พวกข้าพเจ้าไม่ให้ส่วนบุญแก่พวกมาตุคาม”

ลำดับนั้น ช่างไม้กล่าวกะคนเหล่านั้นว่า

“นาย พวกท่านพูดอะไร เว้นพรหมโลกเสีย สถานที่อื่นชื่อว่า เป็นที่เว้นจาหญิง ย่อมไม่มี พวกท่านจงรับเอาช่อฟ้าเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น การงานของพวกเราก็จักถึงความสำเร็จ”

“ดีละ”

แล้วรับเอาช่อฟ้า สร้างศาลาให้สำเร็จแล้ว แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ ในส่วนหนึ่งสร้างเป็นที่สำหรับอยู่ของพวกอิสรชน ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ ส่วนหนึ่งสำหรับคนไข้

ชน ๓๓ คน ให้ปูกระดาน ๓๓ แผ่น แล้วบอกกับช้างว่า

“ผู้เป็นแขกมานั่งบนแผ่นกระดานอันผู้ใดปูไว้ เจ้าจงพาแขกนั้น ไปให้พักอยู่ที่เรือนของผู้นั้น ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ การนวดเท้า การนวดหลัง ของควรเคี้ยวควรบริโภค ที่นอนทุกอย่าง จักเป็นหน้าที่ของผู้นั้น ซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นกระดานนั่นแหละ”

ช้างรับผู้ที่มาแล้ว ๆ นำไปสู่เรือนของเจ้าของกระดานนั่นเทียว ในวันนั้น เจ้าของกระดานนั้นทำกิจที่ควรทำแก่ผู้ที่ช้างนำไป

ภรรยามฆมาณพร่วมสร้างกุศล

นายมฆะปลูกต้นทองหลางต้นหนึ่งไว้ ไม่ห่างจากศาลานัก แล้วปูแผ่นศิลาไว้ที่โคนต้นทองหลางนั้น พวกที่เข้าไปสู่ศาลาแล้ว แลดูช่อฟ้า อ่านหนังสือแล้ว ย่อมพูดกันว่า 'ศาลาชื่อสุธรรมา' ชื่อของชน ๓๓ คน ไม่ปรากฏ

นางสุนันทาคิดว่า

“พวกนี้เมื่อทำศาลา ทำพวกเราไม่ให้มีส่วนบุญด้วย แต่นางสุธรรมาก็ทำช่อฟ้าเข้าร่วมส่วนจนได้เพราะความที่เป็นคนฉลาด เราก็ควรจะทำอะไร ๆ บ้าง จักทำอะไรหนอ”  

ในทันใดนั้น นางก็ได้มีความคิด ดังนี้ว่า

“พวกที่มาสู่ศาลาควรจะได้น้ำกินและน้ำอาบ เราจะให้เขาขุดสระโบกขรณี”

นางให้เขาสร้างสระโบกขรณีแล้ว

นางสุจิตราคิดว่า

“นางสุธรรมาได้ให้ช่อฟ้า นางสุนันทาได้สร้างสระโบกขรณี เราก็ควรสร้างอะไร ๆ บ้าง เราจักทำอะไรหนอ" 

ทีนั้น นางได้มีความคิด ดังนี้ว่า

“ในเวลาที่พวกชนมาสู่ศาลา ดื่มน้ำอาบน้ำแล้วไป ควรจะประดับพวงดอกไม้แล้วจึงไป เราจักสร้างสวนดอกไม้”

นางได้ให้เขาสร้างสวนดอกไม้อันน่ารื่นรมย์แล้ว ผู้ที่จะออกปากว่า 'ในสวนนั้น ไม่มีต้นไม้ที่ผลิดอกออกผลชื่อโน้น'  มิได้มี

ฝ่ายนางสุชาดาคิดเสียว่า

“เราเป็นทั้งลูกลุงของนายมฆะ เป็นทั้งภริยา กรรมที่นายมฆะนั่นทำแล้ว ก็เป็นของเราเหมือนกัน กรรมที่เราทำแล้ว ก็เป็นของนายมฆะนั่นเเหมือนกัน”

ดังนี้แล้ว ไม่ทำอะไร ๆ มัวแต่งแต่ตัวของตนเท่านั้น ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปแล้ว

มฆมาณพ ภรรยา ๓ คน และพวกเกิดในภพดาวดึงส์

ฝ่ายมฆะมาณพบำเพ็ญวัตตบท ๗ เหล่านี้ คือ

บำรุงมารดาบิดา ๑ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล ๑ พูดคำสัตย์ ๑ ไม่พูดคำหยาบ ๑ ไม่พูดส่อเสียด ๑ กำจัดความตระหนี่ ๑ ไม่โกรธ ๑

ถึงความเป็นผู้ควรสรรเสริญอย่างนี้ว่า

“ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เรียกนรชนผู้เลี้ยงมารดาบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล กล่าวถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน ละวาจาส่อเสียด ประกอบในอันกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ข่มความโกรธได้ นั่นแลว่า สัปบุรุษ

ในเวลาสิ้นชีวิต มฆะมาณพได้เกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์ สหายของเขาเหล่านั้นก็เกิดในที่นั้นเหมือนกัน ช่างไม้เกิดเป็นวิศวกรรมเทพบุตร

แม้นางสุธรรมา นางสุนันทา นางสุจิตรา ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์นั้นเหมือนกัน

ส่วนนางสุชาดาถึงแก่กรรมแล้ว เกิดเป็นนางนกยางในซอกเขาแห่งหนึ่ง

ส่วนช้างเกิดเป็นเทพบุตรชื่อ เอราวัณ

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๔๐ หน้า ๓๕๙-๓๖๗ และหน้า ๓๖๙-๓๗๐