สระน้ำภายในกำแพงเมืองกรุงกบิลพัสดุ์
ในวันที่สี่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จกลับมายังกรุงกบิลพัสดุ์นั้น พระญาติทั้งหลายได้กระทำมงคล ๓ ประการคือ อาภรณ์มงคล อภิเษกมงคล และอาวาหมงคลแก่เจ้าชายนันทะซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระชนนี พระศาสดารับนิมนต์พร้อมภิกษุ ๕๐๐ รูป เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จ ทรงอนุโมทนาแล้วได้ทรงประทานบาตรในพระหัตถ์แก่นันทกุมาร
ฝ่ายนันทกุมารนั้น ด้วยความเคารพในพระศาสดา จึงมิอาจทูลเตือนให้พระองค์ทรงรับบาตรคืนไป ได้แต่คิดว่าพระศาสดาจะทรงรับบาตรคืนในที่นั้นที่นี้
หญิงพวกอื่นเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว จึงบอกแก่นางชนบทกัลยาณีว่า
“พระแม่เจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพานันทกุมารเสด็จไปแล้ว คงจักพรากนันทกุมารจากพระแม่เจ้า”
ฝ่ายนางชนบทกัลยาณีได้ยินแล้วก็ร่ำไห้ และรีบเสด็จออกไปทูลทั้งที่ยังเกล้าผมได้เพียงข้างเดียวว่า
“ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์พึงเสด็จกลับด่วน”
คำของนางนั้น ประหนึ่งตกไปขวางตั้งอยู่ในหทัยของนันทกุมาร แต่พระศาสดาก็ยังไม่ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมารเลย ทรงนำนันทกุมารนั้นไปสู่วิหารแล้วตรัสว่า
“นันทะ เธออยากบวชไหม”
ด้วยความเคารพในพระศาสดา นันทกุมารจึงไม่อาจทูลว่าจักไม่บวช กลับทูลรับว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จักบวชพระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้น เธอทั้งหลายจงให้นันทะบวชเถิด”
ต่อมา พระนันทะซึ่งไม่ยินดีในการผนวช ปรารถนาจะสึก พระพุทธองค์จึงพาพระนันทะไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยพระอานุภาพ ท้าวสักกะและหมู่นางอัปสรพากันมาเฝ้า พระพุทธองค์ให้พระนันทะดูนางเทพอัปสรผู้มีเท้าเหมือนนกพิราบเพื่อทำลายราคะของพระนันทะ พระนันทะมนสิการอุบายนั้นโดยแยบคาย แล้วเริ่มเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุอรหัตตผลในเวลาต่อมาไม่นาน
ต่อมา พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระนันทะเถระว่าเป็นผู้เลิศกว่าสาวกผู้สามารถคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
นันทเถรคาถา สุภาษิตชี้ทางปฏิบัติ
เรามัวแต่ประกอบการประดับตกแต่ง
เพราะไม่มีโยนิโสมนสิการ
มีใจฟุ้งซ่าน กลับกลอก
ถูกกามราคะเบียดเบียน
เราได้ปฏิบัติโดยอุบายที่ชอบ
ตามที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
ฉลาดในอุบาย ได้ทรงสั่งสอนแนะนำ
แล้วถอนจิตที่จมลงในภพขึ้นได้
อ้างอิง : นันทเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๒๗๖ หน้า ๒๔๖ และอรรถกถา