4-12 เจ้าศากยะ-โกลิยะวิวาทกัน



แม่น้ำโรหิณี

ในสมัยพุทธกาลนั้น ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองโกลิยะ ทั้งสองเมืองนี้ มีแม่น้ำชื่อว่าโรหิณีสายเดียวเท่านั้นไหลผ่านลงมา ชนชาวสากิยะและชนชาวโกลิยะจึงทำทำนบกั้นน้ำนั้นร่วมอันเดียวกัน แล้วจึงตกกล้า

ครั้งหนึ่งในต้นเดือน ๗ ข้าวกล้าเฉาลง พวกกรรมกรของชนชาวนครทั้งสองนั้นจึงประชุมกัน บรรดากรรมกรทั้งสองเมืองนั้น พวกกรรมกรชาวเมืองโกลิยะกล่าวขึ้นก่อนว่า

"น้ำที่ปิดกั้นไว้นี้ ถ้าจะไขเข้านาทั้งสองฝ่าย ก็ไม่พอเลี้ยงต้นข้าวของพวกเราและพวกท่าน ก็ข้าวกล้าของพวกเราจักสำเร็จเพราะน้ำคราวเดียวเท่านั้น พวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกเราเถิด"

แม้พวกกรรมกรชาวเมืองกบิลพัสดุ์ก็พูดขึ้นว่า

"เมื่อพวกท่านได้ข้าวกล้าเอาบรรจุไว้ในฉางจนเต็มแล้วตั้งปิ่งอยู่ พวกเราไม่อาจที่จะถือเอากหาปณะทองคำ เงิน นิล มณี สัมฤทธิ์ แบกกระเช้ากระสอบ เป็นต้น เที่ยวไปขอซื้อตามประตูเรือนของท่านได้ แม้ข้าวกล้าของพวกเราก็จักสำเร็จได้เพราะน้ำคราวเดียวเท่านั้นเหมือนกัน ขอพวกท่านจงให้น้ำนี้แก่พวกเราเถิด"

ทั้งสองฝ่ายต่างก็ขึ้นเสียงเถียงกันว่า

"พวกเราจักไม่ให้ แม้พวกเราก็จักไม่ยอมให้เหมือนกัน" ดังนี้

ครั้นพูดกันมากขึ้น ๆ อย่างนี้ กรรมกรคนหนึ่งก็ลุกขึ้นตีเอาคนหนึ่งเข้า แม้คนที่ถูกตีนั้น ก็ตีคนอื่น ๆ ต่อไป ต่างฝ่ายต่างตีกันอย่างนี้ ก็เกิดทะเลาะกระทบชาติแห่งราชตระกูล พวกกรรมกรชาวโกลิยะกล่าวขึ้นก่อนว่า

"พวกมึงจงพาพวกเด็ก ๆ สากิยะซึ่งอยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ไปเถิด อ้ายพวกสังวาสกับน้องสาวของตัวเองเหมือนสัตว์เดียรัจฉาน มีหมาบ้านและหมาป่า เป็นต้น ถึงจะมีกำลัง เป็นต้นว่า ช้าง ม้า โล่ และอาวุธ ก็จักกระทำอะไรแก่พวกกูได้"

ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ก็พูดว่า

"พวกมึงก็เหมือนกันจงพาเด็กขี้เรื้อนไปเสียในบัดนี้ อ้ายพวกอนาถา หาที่ไปไม่ได้ เที่ยวอาศัยอยู่ในโพรงไม้กระเบาเหมือนสัตว์เดียรัจฉาน ถึงจะมีโยธาหาญ เป็นต้นว่า ช้าง ม้า โล่และอาวุธ ก็จักกระทำอะไรแก่พวกกูได้"

ชนเหล่านั้นต่างฝ่ายต่างก็ไปร้องเรียนอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าหน้าที่

ในการนั้น พวกอำมาตย์จึงเสนอเรื่องราวแก่ราชตระกูลต่อไป ในลำดับนั้น พวกกษัตริย์สากิยะทั้งหลายจึงตรัสว่า

"พวกเราจะสำแดงเรี่ยวแรงและกำลังของตนที่สังวาสกับน้องสาวให้ดู" แล้วตระเตรียมการรบยกออกไป

แม้กษัตริย์พวกโกลิยะก็ตรัสว่า

"พวกเราก็จะสำแดงให้เห็นเรี่ยวแรงและกำลังของคนที่อาศัยอยู่ในต้นกระเบา" แล้วตระเตรียมการรบยกออกไปเหมือนกัน

ก็กษัตริย์สากิยะและโกลิยะทั้งสองฝ่ายนั้น ครั้นเตรียมรบพร้อมแล้ว ก็ยกออกไปในเวลาเย็น ด้วยประการฉะนี้แล

ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถีทรงทอดพระเนตรดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งทีเดียว ได้ทอดพระเนตรเห็นกษัตริย์ทั้งสองพระนครนี้มีการตระเตรียมรบ แล้วยกกองทัพออกไปอย่างนี้

เมื่อทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงทรงใคร่ครวญต่อไปว่า

"เมื่อเราไปห้ามการทะเลาะนี้จักระงับหรือไม่หนอ

เราไปในที่นั้นแล้ว จักแสดงชาดก ๓ เรื่อง เพื่อระงับการทะเลาะวิวาท การทะเลาะวิวาทก็จักระงับลง

ครั้นแล้ว เราจักแสดงชาดกอีก ๒ เรื่องเพื่อต้องการจะแสดงความสามัคคี แล้วจักแสดงอัตตทัณฑสูตรต่อไป กษัตริย์ผู้อยู่ในพระนครทั้งสอง เมื่อได้ฟังเทศนาของเราแล้ว ก็จักให้พระราชกุมารฝ่ายละ ๒๕๐ พระองค์ เราจักให้พระราชกุมารเหล่านี้บรรพชา สมาคมใหญ่จักมีด้วยประการฉะนี้"

ครั้นตกลงพระหฤทัยดังนี้แล้ว พอรุ่งเช้า ก็ทรงกระทำการชำระพระสรีระ เสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ถึงเวลาเย็น ก็เสด็จออกจากพระคันธกุฎี มิได้ตรัสบอกแก่ใคร ๆ เลย ทรงถือเอาบาตรแลจีวรด้วยพระองค์เอง ทรงคู้บัลลังก์ประทับนั่งในอากาศระหว่างเสนาทั้งสองฝ่าย ทรงเปล่งพระรัศมีออกจากพระเกศ ทำให้เกิดความมืดในเวลากลางวัน เพื่อให้เกิดความท้อใจแก่พวกนักรบเหล่านั้น

ลำดับนั้น เมื่อพวกนักรบเหล่านั้นเกิดความท้อใจแล้ว พระองค์จึงทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ทรงเปล่งพระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ฝ่ายเหล่ากษัตริย์สากิยะชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงดำริว่า

"ญาติผู้ประเสริฐของพวกเราเสด็จมาแล้ว ชะรอยพระองค์คงจะได้ทรงทราบว่าพวกเรากระทำการทะเลาะวิวาทกัน"

จึงพากันวางเครื่องอาวุธเสียด้วยตกลงใจว่า

"ก็เมื่อพระศาสดาเสด็จมาแล้ว พวกเราไม่อาจที่จะให้อาวุธตกต้องร่างกายของผู้อื่นได้ พวกชาวเมืองโกลิยะจะฆ่าจะแกงพวกเราเสียก็ตามทีเถิด"

แม้พวกกษัตริย์ชาวเมืองโกลิยะก็คิดและกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จลงมาประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์อันประเสริฐ ซึ่งพวกกษัตริย์จัดถวายบนเนินทรายในประเทศอันรื่นรมย์ ทรงรุ่งเรืองอยู่ด้วยพระพุทธสิริอันงดงามหาสิ่งเปรียบมิได้ แม้พระราชาทั้งสองฝ่ายนั้น ก็พากันถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่งอยู่

พระศาสดาแม้ทรงทราบเรื่องอยู่ แต่ก็ได้ตรัสถามพวกกษัตริย์เหล่านั้นอีกว่า

"ดูกรมหาราชทั้งหลาย พวกท่านมา ณ ที่นี้ทำไม"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งปวงมา ณ ที่นี้เพื่อต้องการจะดูแม่น้ำก็หามิได้ เพื่อต้องการจะเที่ยวเล่นก็หามิได้ เพื่อต้องการจะดูภาพอันน่ารื่นรมย์ในป่าดงก็หามิได้ ก็แต่ว่าหม่อมฉันมา ณ ที่นี้ เพราะการเริ่มสงครามกันขึ้น"

"ดูกรมหาราช พวกเธอเกิดทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องอะไรเล่า"

กษัตริสากิยะตรัสตอบว่า

"เพราะเรื่องน้ำพระเจ้าข้า"

"ดูกรมหาราช น้ำมีราคาเท่าไร"

"น้ำราคาเล็กน้อย พระเจ้าข้า"

"ดูกรมหาราช ก็แผ่นดินราคาเท่าไร"

"แผ่นดินมีราคาประมาณมิได้ พระเจ้าข้า"

"ดูกรมหาราช ก็กษัตริย์เล่ามีราคาเท่าไร"

"กษัตริย์ก็มีราคาประมาณมิได้เหมือนกันพระเจ้าข้า"

"ดูกรมหาราชทั้งหลาย ไฉนพวกท่านจึงจะยังกษัตริย์ทั้งหลายซึ่งหาค่ามิได้ให้พินาศไป เพราะอาศัยน้ำซึ่งมีราคาเพียงเล็กน้อยเล่า"

ครั้นตรัสดังนี้แล้ว เมื่อทรงพระประสงค์จะระงับการทะเลาะวิวาท จึงตรัสเทศนาชาดก ๓ เรื่อง คือ ผันทนชาดก ทุททุภายชาดก ลูฏุกิกชาดก

ทรงตรัสเทศนา ผันทนชาดก ความว่า

"ดูกรมหาราชทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการหายใจคล่องเพราะเหตุทะเลาะวิวาทกันนั้นไม่มีเลย ด้วยว่ารุกขเทวดาคนหนึ่งกับหมีตัวหนึ่งอาฆาตกันเพราะเหตุทะเลาะวิวาทกัน เวรนั้นก็ตกตามอยู่ตลอดกัปนี้ทั้งสิ้นลำดับต่อนั้นไป"

แล้วได้ตรัสเทศนา ทุททภชาดก ความว่า

"ดูกรมหาราชทั้งหลาย เกิดมาเป็นคนไม่ควรหันไปตามเหตุที่ถึงของบุคคลอื่น (คือไม่ควรเก็บเอาเรื่องของคนอื่นมาคิด) จะเล่าให้ฟัง พวกสัตว์จตุบทในประเทศหิมวันต์ซึ่งกว้างประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ ยึดถือเรื่องของคนอื่น พากันวิ่งจะไปลงทะเลเพราะฟังคำของกระต่ายตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรยึดถือเอาเรื่องของคนอื่น"

ต่อจากนั้นพระองค์ตรัสเทศนา ลฏุกิกชาดก ความว่า

"ดูกรมหาราชทั้งหลาย บางคราวผู้ที่มีกำลังน้อยก็หาช่องทำลายผู้มีกำลังมากได้ บางคราวผู้มีกำลังมากก็ได้ช่องทำแก่ผู้มีกำลังน้อย แม้แต่นางนกไส้ยังฆ่าพญาช้างตัวประเสริฐได้"

สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสเทศนาชาดก ๓ เรื่อง เมื่อทรงพระประสงค์จะระงับการทะเลาะวิวาทดังนี้แล้ว จึงตรัสเทศนาชาดกอีก ๒ เรื่อง เพื่อแสดงสามัคคีธรรมเหมือนดังนั้นอีก คือ ตรัสเทศนา รุกขธรรมชาดก ว่า

"ดูกรมหาราชทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลพร้อมเพรียงกันอยู่แล้ว ใคร ๆ ก็ไม่อาจหาช่องทำร้ายได้"

แล้วตรัสเทศนา สัมโมทมานชาดก ความว่า

"ดูกรมหาราชทั้งหลาย เมื่อฝูงนกกระจาบพร้อมเพรียงกันอยู่ นายพรานก็ไม่อาจหาช่องทำร้ายได้ ต่อเมื่อใดฝูงนกกระจาบเกิดแก่งแย่งกันขึ้น เมื่อนั้น บุตรนายพรานคนหนึ่ง จึงทำลายชีวิตเอานกกระจาบเหล่านั้นไปเสีย ขึ้นชื่อว่าความหายใจคล่องในการทะเลาะวิวาทย่อมไม่มีเลย"

พระศาสดาตรัสชาดก ๕ เรื่องเหล่านี้อย่างนี้แล้ว ในที่สุดจึงตรัสเทศนาอัตตทัณฑสูตร

 

 

อ้างอิง : อรรกถากุณาลชาดก อรรถกถาสมยสูตร