สถูปสถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ นครสาวัตถี
ครั้นเมื่อฝ่ายพวกเดียรถีย์ทราบว่าพระสมณโคดมให้ทำลายบาตรนั้น แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเพื่อต้องการมิให้ทำปาฏิหาริย์ จึงเที่ยวบอกกันในถนนในพระนครว่า
“สาวกทั้งหลายของพระสมณโคดมไม่ก้าวล่วงสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ถึงพระสมณโคดมก็จักรักษาสิกขาบทที่ทรงบัญญัตินั้นเหมือนกัน
บัดนี้ พวกเราได้โอกาสแล้ว พวกเรารักษาคุณของตน จึงไม่แสดงคุณของตนแก่มหาชนเพราะเหตุแห่งบาตรในกาลก่อน เหล่าสาวกของพระสมณโคดมแสดงคุณของตนแก่มหาชนเพราะเหตุแห่งบาตร พระสมณโคดมรับสั่งให้ทำลายบาตรนั้นแล้ว ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่เหล่าสาวกเพราะพระองค์เป็นบัณฑิต
บัดนี้ พวกเราจักทำปาฏิหาริย์กับพระสมณโคดมนั่นแล”
พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว เสด็จไปยังสำนักพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ได้ทราบว่าพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่เหล่าสาวกเพื่อต้องการไม่ให้ทำปาฏิหาริย์เสียแล้วหรือ”
พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า
“ขอถวายพระพร มหาบพิตร”
“บัดนี้ พวกเดียรถีย์พากันกล่าวว่า พวกเราจักทำปาฏิหาริย์กับด้วยพระองค์ พระองค์จักทรงทำอย่างไร”
“เมื่อเดียรถีย์เหล่านั้นกระทำ อาตมภาพก็จักกระทำ มหาบพิตร”
“พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้เเล้วมิใช่หรือ”
“มหาบพิตร อาตมภาพมิได้บัญญัติสิกขาบทเพื่อตน สิกขาบทนั้น อาตมภาพบัญญัติไว้เพื่อสาวกทั้งหลาย”
“สิกขาบทพระองค์ทรงบัญญัติในสาวกทั้งหลายอื่น เว้นพระองค์เสียหรือ พระเจ้าข้า”
“มหาบพิตร ถ้าเช่นนั้นอาตมภาพจักย้อนถามพระองค์ในเรื่องนี้
มหาบพิตร ก็พระอุทยานในแว่นแคว้นของพระองค์มีอยู่หรือ”
“มี พระเจ้าพุทธข้า”
“มหาบพิตร ถ้าว่ามหาชนพึงบริโภคผลไม้ เป็นต้นว่า ผลมะม่วงในพระอุทยานของพระองค์ พระองค์พึงทรงทำอย่างไรแก่เขา”
“พึงลงอาชญา พระเจ้าพุทธข้า”
“ก็พระองค์ย่อมได้เสวยผลไม้ในพระอุทยานของพระองค์หรือ”
“พระเจ้าพุทธข้า อาชญาไม่มีแก่หม่อมฉัน หม่อมฉันย่อมได้เสวยของของตน”
“มหาบพิตร อาชญาแม้ของอาตมภาพย่อมแผ่ไปในแสนโกฏิจักรวาลเหมือนอาชญาของพระองค์ที่แผ่ไปในแว่นแคว้นประมาณ ๓๐๐ โยชน์
อาชญาไม่มีแก่พระองค์ผู้เสวยผลไม้ทั้งหลาย เป็นต้นว่า ผลมะม่วงในพระอุทยานของพระองค์ แต่มีอยู่แก่ชนเหล่าอื่น
ขึ้นชื่อว่า การก้าวล่วงบัญญัติ คือ สิกขาบท ย่อมไม่มีแก่ตน แต่ย่อมมีแก่สาวกเหล่าอื่น อาตมภาพจึงจักทำปาฏิหาริย์”
เมื่อพวกเดียรถีย์ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว ปรึกษากันว่า
“บัดนี้ พวกเราฉิบหายแล้ว ได้ยินว่า พระสมณโคดมทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อเหล่าสาวกเท่านั้น ไม่ทรงบัญญัติไว้เพื่อตน ได้ยินว่าท่านปรารถนาจะทำปาฏิหาริย์เองทีเดียว พวกเราจักทำอย่างไรกันเล่า”
อาณาบริเวณนครราชคฤห์
ทรงกำหนดวันแสดงปาฏิหาริย์
พระเจ้าพิมพิสารทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“เมื่อไรพระองค์จักทรงทำปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าข้า”
“มหาบพิตร โดยล่วงไปอีก ๔ เดือนต่อจากนี้ไป วันเพ็ญเดือน ๘ จักทำ”
“พระองค์จักทรงทำที่ไหน พระเจ้าเจ้าข้า”
“อาตมภาพจักอาศัยเมืองสาวัตถีทำ มหาบพิตร”
“ก็ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงอ้างที่ไกลอย่างนี้”
“เพราะที่นั้นเป็นสถานที่ทำมหาปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ อีกอย่างหนึ่ง พระองค์อ้างที่ไกลทีเดียวเพื่อประโยชน์จะให้มหาชนประชุมกัน”
พวกเดียรถีย์ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว กล่าวว่า
“ได้ยินว่า ต่อจากนี้ โดยล่วงไป ๔ เดือน พระสมณโคดมจักทำปาฏิหาริย์ ณ เมืองสาวัตถี
บัดนี้ พวกเราจักติดตามพระสมณโคดมไปไม่ละเทียว มหาชนเห็นพวกเราแล้ว จักถามว่า นี่อะไรกัน ทีนั้น พวกเราจักบอกแก่เขาว่า พวกเราพูดไว้เเล้วว่า จักทำปาฏิหาริย์กับพระสมณโคดม พระสมณโคดมนั้น ย่อมหนีไป พวกเราไม่ให้พระสมณโคดมนั้นหนี จึงติดตามไป”
พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ออกมาแล้ว พวกเดียรถีย์ก็ออกมาข้างหลังของพระองค์นั่นแล อยู่ใกล้ที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจ
ในวันรุ่งขึ้น พวกเดียรถีย์บริโภคอาหารเช้าในที่ที่ตนอยู่แล้ว เดียรถีย์เหล่านั้นถูกพวกมหาชนถาม จึงบอกโดยนัยแห่งคำที่กล่าวแล้วในหนหลัง ฝ่ายมหาชนคิดว่า
“พวกเราจักดูปาฏิหาริย์” ดังนี้แล้ว ได้ติดตามไป
พระผู้มีพระภาคถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ
เดียรถีย์เตรียมทำปาฏิหาริย์แข่ง
แม้พวกเดียรถีย์ก็ไปกับพระองค์เหมือนกัน ชักชวนอุปัฏฐากได้ทรัพย์แสนหนึ่งแล้ว ให้ทำมณฑปด้วยเสาไม้ตะเคียน ให้มุงด้วยอุบลเขียว นั่งพูดกันว่า
“พวกเราจักทำปาฏิหาริย์ในที่นี้”
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า
“พวกเดียรถีย์ให้ทำมณฑปแล้ว พระเจ้าพุทธข้า แม้ข้าพระองค์จะให้ทำมณฑปเพื่อพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“อย่าเลยมหาบพิตร ผู้ทำมณฑปของอาตมภาพมี”
“เว้นข้าพระองค์เสีย ใครเล่าจักอาจทำได้พระพุทธเจ้าข้า”
“ท้าวสักกเทวราช”
“ก็พระองค์จักทรงทำปาฏิหาริย์ที่ไหนเล่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ที่ควงไม้คัณฑามพพฤกษ์ มหาบพิตร”
พวกเดียรถีย์ได้ยินว่า พระสมณโคดมจักทำปาฏิหาริย์ที่ควงไม้มะม่วง จึงบอกพวกอุปัฏฐากของตนให้ถอนต้นมะม่วงเล็กที่สุด แม้งอกในวันนั้นในที่ระหว่างโยชน์หนึ่ง แล้วให้ทิ้งไปในป่า
คัณฑามพพฤกษ์ (ต้นมะม่วงที่นายคัณฑะปลูก)
ในวันเพ็ญเดือน ๘ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปภายในพระนคร ผู้รักษาสวนของพระราชาชื่อ คัณฑะ เห็นมะม่วงสุกผลใหญ่ผลหนึ่งในระหว่างกลุ่มใบที่มดดำมดแดงทำรังไว้ ไล่กาที่มาชุมนุมด้วยความโลภในกลิ่นและรสแห่งมะม่วงนั้นให้หนีไปแล้ว ถือเอาเพื่อประโยชน์แด่พระราชา เดินไปเห็นพระผู้มีพระภาคในระหว่างทาง คิดว่า
“พระราชาเสวยผลมะม่วงนี้แล้ว พึงพระราชทานกหาปณะแก่เรา ๘ กหาปณะ หรือ ๑๖ กหาปณะ กหาปณะนั้นไม่พอเพื่อเลี้ยงชีพในอัตภาพหนึ่งของเรา
ก็ถ้าว่าเราถวายผลมะม่วงนี้แด่พระผู้มีพระภาค นั่นจักเป็นคุณ นำประโยชน์เกื้อกูลมาให้เเก่เราตลอดกาลไม่มีสิ้นสุด”
เขาน้อมถวายผลมะม่วงนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงน้อมบาตรเข้าไปรับมะม่วงแล้ว พระอานนท์กรองน้ำดื่ม แล้วขยำมะม่วงสุกผลนั้น ได้ทำให้เป็นน้ำปานะถวาย พระผู้มีพระภาคเสวยน้ำปานะผลมะม่วงแล้ว ตรัสกะนายคัณฑะว่า
“เธอจงคุ้ยดินร่วนขึ้น แล้วปลูกเมล็ดมะม่วงนี้ในที่นี้นี่แหละ”
เขาได้ทำอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงล้างพระหัตถ์บนเมล็ดมะม่วงนั้น เมื่อพระหัตถ์อันพระองค์ทรงล้างแล้วเท่านั้น ต้นมะม่วงมีลำต้นเท่างอนไถ สูงประมาณ ๕๐ ศอก งอกขึ้นแล้ว กิ่งใหญ่ ๕ กิ่ง คือใน ๔ ทิศ ทิศละกิ่ง เบื้องบนกิ่งหนึ่ง ได้มีประมาณกิ่งละ ๕๐ ศอกเทียว ต้นมะม่วงนั้นสมบูรณ์ด้วยช่อและผล ได้ทรงไว้ซึ่งพวงแห่งมะม่วงสุกในที่แห่งหนึ่งในขณะนั้นนั่นเอง
พวกภิกษุผู้มาข้างหลังมาขบฉันผลมะม่วงสุกเหมือนกัน พระราชาทรงสดับข่าว จึงทรงตั้งอารักขาไว้ด้วยพระดำรัสว่า
“ใคร ๆ อย่าตัดต้นมะม่วงนั้น”
ก็ต้นมะม่วงนั้นปรากฏชื่อว่า คัณฑามพพฤกษ์ เพราะความที่นายคัณฑะปลูกไว้
ท้าวสักกะทำลายพิธีของพวกเดียรถีย์
ท้าวสักกะทรงสั่งบังคับวาตวลาหกเทวบุตรว่า
“ท่านจงถอนมณฑปของพวกเดียรถีย์เสียด้วยลม แล้วให้ลมหอบไปทิ้งเสียบนแผ่นดินที่ทิ้งหยากเยื่อ”
เทวบุตรนั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว
ท้าวสักกะสั่งสุริยเทวบุตรว่า
“ท่านจงขยายมณฑลพระอาทิตย์ ยังพวกเดียรถีย์ให้เร่าร้อน”
แม้เทวบุตรนั้นก็ได้ทำอย่างนั้นแล้ว
ท้าวสักกะทรงสั่งวาตวลาหกเทวบุตรอีกว่า
“ท่านจงยังมณฑลแห่งลม (ลมหัวด้วน)ให้ตั้งขึ้นไปเถิด”
เทวบุตรนั้นทำอยู่อย่างนั้น โปรยเกลียวธุลีลงที่สรีระของพวกเดียรถีย์ที่มีเหงื่อไหล พวกเดียรถีย์เหล่านั้นได้เป็นเช่นกับจอมปลวกแดง
ท้าวสักกะทรงสั่งวัสสวลาหกเทวบุตรว่า
“ท่านจงให้หยาดน้ำเมล็ดใหญ่ ๆ ตก”
เทวบุตรนั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว ทีนั้น กายของพวกเดียรถีย์เหล่านั้น ได้เป็นเช่นกับแม่โคด่างแล้ว พวกเขาแตกหมู่กัน หนีไปในที่เฉพาะหน้า ๆ นั่นเอง
ปูรณกัสสปกระโดดน้ำ ไปเกิดในอเวจี
เมื่อพวกเขาหนีไปอยู่อย่างนั้น ชาวนาคนหนึ่งเป็นอุปัฏฐากของปูรณกัสสป คิดว่า
“บัดนี้ เป็นเวลาทำปาฏิหาริย์แห่งพระผู้เป็นเจ้าของเรา เราจักดูปาฏิหาริย์นั้น”
แล้วปล่อยโค ถือหม้อยาคูและเชือกซึ่งตนนำมาแต่เช้าตรู่เดินมาอยู่ เห็นปูรณะหนีไปอยู่เช่นนั้น จึงกล่าวว่า
“ท่านขอรับ ผมมาด้วยหวังว่าจักดูปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้า พวกท่านจะไปที่ไหน”
ปูรณกัสสปกล่าวว่า
“ท่านจะต้องการอะไรด้วยปาฏิหาริย์ ท่านจงให้หม้อและเชือกนี้แก่เรา”
เขาถือเอาหม้อและเชือกที่อุปัฏฐากนั้นให้เเล้ว ไปยังฝั่งแม่น้ำ เอาเชือกผูกหม้อเข้าที่คอของตนแล้ว กระโดดลงไปในห้วงน้ำ ยังฟองน้ำให้ตั้งขึ้นอยู่ ทำกาละในอเวจีแล้ว
เวลาทำปาฏิหาริย์
พระผู้มีพระภาคทรงนิรมิตจงกรมแก้วในอากาศ ที่สุดด้านหนึ่งของจงกรมนั้น มีขอบปากจักรวาลด้านปาจีนทิศ ด้านหนึ่งได้มีขอบปากจักรวาลด้านปัศจิมทิศ
เมื่อบริษัทมีประมาณ ๓๖ โยชน์ ประชุมกันแล้วในเวลาบ่าย พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ด้วยทรงดำริว่า
“บัดนี้ เป็นเวลาทำปาฏิหาริย์” แล้วได้ประทับยืนที่หน้ามุข
สาวก สาวิการับอาสาทำปาฏิหาริย์แทน
ครั้งนั้น อนาคามีอุบาสิกาคนหนึ่ง ผู้นันทมารดา ชื่อ ฆรณี เข้าไปเฝ้าพระองค์แล้วกราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า เมื่อธิดาเช่นหม่อมฉันมีอยู่ กิจที่พระองค์ต้องลำบากย่อมไม่มี หม่อมฉันจักทำปาฏิหาริย์”
“ฆรณี เธอจักทำอย่างไร”
“พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันจักทำแผ่นดินใหญ่ในท้องแห่งจักรวาลหนึ่งให้เป็นน้ำ แล้วดำลงเหมือนนางนกเป็ดน้ำ แสดงตนที่ขอบปากแห่งจักรวาลด้านปาจีนทิศ ที่ขอบปากแห่งจักรวาลด้านปัศจิมทิศ อุตรทิศและทักษิณทิศก็เช่นนั้น ตรงกลางก็เช่นนั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น มหาชนเห็นหม่อมฉันแล้ว เมื่อใคร ๆ พูดขึ้นว่า นั่นใคร ก็จะบอกว่า นั่นชื่อ นางฆรณี อานุภาพของหญิงคนหนึ่งยังเพียงนี้ก่อน ส่วนอานุภาพของพระพุทธเจ้าจักเป็นเช่นไร
พวกเดียรถีย์ไม่ทันเห็นพระองค์เลย ก็จักหนีไปด้วยอาการอย่างนี้”
“ฆรณี เราย่อมทราบความที่เธอเป็นผู้สามารถทำปาฏิหาริย์เห็นปานนี้ได้ แต่พวงดอกไม้นี้ เขามิได้ผูกไว้เพื่อประโยชน์แก่เธอ” แล้วทรงห้ามเสีย
นางฆรณีนั้น คิดว่า “พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตแก่เรา คนอื่นผู้สามารถทำปาฏิหาริย์ยิ่งขึ้นไปกว่าเราจะมีแน่แท้” ดังนี้แล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า
“คุณของสาวกเหล่านั้น จักปรากฏด้วยอาการอย่างนี้แหละ”
ทรงสำคัญอยู่ว่า พวกสาวกจะบันลือสีหนาท ณ ท่ามกลางบริษัท มีประมาณ ๓๖ โยชน์ ด้วยอาการอย่างนี้ จึงตรัสถามสาวกแม้พวกอื่นอีกว่า
“พวกเธอจักทำปาฏิหาริย์อย่างไร”
สาวกเหล่านั้นก็กราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์จักทำอย่างนี้และอย่างนี้” แล้วยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคนั่นแหละ บันลือสีหนาท
บรรดาสาวกเหล่านั้น ท่านจุลอนาถบิณฑิกะ คิดว่า
“เมื่ออนาคามีอุบาสกผู้เป็นบุตรเช่นเรามีอยู่ กิจที่พระผู้มีพระภาคต้องลำบากย่อมไม่มี” จึงกราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จักทำปาฏิหาริย์”
“เธอจักทำอย่างไร”
“พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จักนิรมิตอัตภาพเหมือนพรหมมีประมาณ ๑๒ โยชน์ จักปรบดุจดังพรหมด้วยเสียงเช่นกับมหาเมฆกระหึ่มในท่ามกลางบริษัทนี้
มหาชนจักถามว่า นี่เสียงอะไรกัน แล้วจักกล่าวกันเองว่า นัยว่า นี่เป็นเสียงแห่งการปรบดังพรหมของท่านจุลอนาถบิณฑิกะ พวกเดียรถีย์จักคิดว่า อานุภาพของคฤหบดียังถึงเพียงนี้ อานุภาพของพระพุทธเจ้าจะเป็นเช่นไร
พวกเดียรถีย์ยังไม่ทันเห็นพระองค์เลย ก็จักหนีไป”
“เราทราบอานุภาพของเธอ” แล้วไม่ทรงอนุญาตการทำปาฏิหาริย์
ต่อมา สามเณรีชื่อว่า วีรา มีอายุได้ ๗ ขวบ บรรลุปฏิสัมภิทารูปหนึ่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันจักทำปาฏิหาริย์”
“วีรา เธอจักทำอย่างไร”
“พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันจักนำภูเขาสิเนรุ ภูเขาจักรวาล และภูเขาหิมพานต์ ตั้งเรียงไว้ในที่นี้ แล้วจักออกจากภูเขานั้น ๆ ไปไม่ขัดข้องดุจนางหงส์
มหาชนเห็นหม่อมฉันแล้วจักถามว่า นั่นใคร แล้วจักกล่าวว่า วีราสามเณรี พวกเดียรถีย์คิดกันว่า อานุภาพของสามเณรีผู้มีอายุ ๗ ขวบ ยังถึงเพียงนี้ อานุภาพของพระพุทธเจ้าจักเป็นเช่นไร
พวกเดียรถีย์ยังไม่ทันเห็นพระองค์เลย ก็จักหนีไป เบื้องหน้าแต่นี้ไป พึงทราบคำเห็นปานนี้”
“เราทราบอานุภาพของเธอ” ดังนี้แล้ว ก็ไม่ทรงอนุญาตการทำปาฏิหาริย์
ลำดับนั้น สามเณรชื่อ จุนทะ ผู้เป็นขีณาสพ บรรลุปฏิสัมภิทารูปหนึ่ง มีอายุ ๗ ขวบ แต่เกิดมา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า
“ข้าพระองค์จักทำปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอจักทำอย่างไร”
“พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จักจับต้นหว้าใหญ่ที่เป็นธงแห่งชมพูทวีปที่ลำต้น แล้วเขย่านำผลหว้าใหญ่มาให้บริษัทนี้เคี้ยวกิน และข้าพระองค์จักนำดอกแคฝอยมา แล้วถวายบังคมพระองค์”
“เราทราบอานุภาพของเธอ” ดังนี้แล้ว ก็ทรงห้ามการทำปาฏิหาริย์ แม้ของสามเณรนั้น
ลำดับนั้น พระเถรีชื่อ อุบลวรรณา ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า
“หม่อมฉันจักทำปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอจักทำอย่างไร”
“พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันจักแสดงบริษัทมีประมาณ ๓๒ โยชน์ โดยรอบ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ อันบริษัทมีประมาณ ๓๖ โยชน์ โดยกลมแวดล้อม แล้วมาถวายบังคมพระองค์”
“เราทราบอานุภาพของเธอ” แล้วก็ทรงห้ามการทำปาฏิหาริย์ แม้ของพระเถรีนั้น
ลำดับนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า
“ข้าพระองค์จักทำปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอจักทำอะไร”
“ข้าพระองค์จักวางเขาหลวงชื่อ สิเนรุไว้ในระหว่างฟันแล้ว เคี้ยวกินภูเขานั้นดุจพืช เมล็ดผักกาด พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอจักทำอะไรอย่างอื่น”
“ข้าพระองค์จักม้วนแผ่นดินใหญ่นี้ ดุจเสื่อลำแพนแล้วใส่เข้าไว้ในระหว่างนิ้วมือ”
“เธอจักทำอะไรอย่างอื่น”
“ข้าพระองค์จักหมุนแผ่นดินใหญ่ ให้เป็นเหมือนแป้นหมุนภาชนะดินของช่างหม้อ แล้วให้มหาชนเคี้ยวกินโอชะแผ่นดิน”
“เธอจักทำอะไรอย่างอื่น”
“ข้าพระองค์จักทำแผ่นดินไว้ในมือเบื้องซ้ายแล้ว วางสัตว์เหล่านั้น ไว้ในทวีปอื่นด้วยมือเบื้องขวา”
“เธอจักทำอะไรอย่างอื่น”
“ข้าพระองค์จักทำเขาสิเนรุให้เป็นด้ามร่ม ยกแผ่นดินใหญ่ขึ้นวางไว้ข้างบนของภูเขาสิเนรุนั้น เอามือข้างหนึ่งถือไว้ คล้ายภิกษุมีร่มในมือ จงกรมไปในอากาศ”
“เราทราบอานุภาพของเธอ” ดังนี้แล้ว ก็ไม่ทรงอนุญาตการทำปาฏิหาริย์แม้ของพระเถระนั้น
พระเถระนั้นคิดว่า “ชะรอยพระผู้มีพระภาคจะทรงทราบผู้สามารถทำปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าเรา” จึงได้ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะพระเถระนั้นว่า
“โมคคัลลานะ พวงดอกไม้นี้เขามิได้ผูกไว้เพื่อประโยชน์แก่เธอ ด้วยว่า...
เราเป็นผู้มีธุระที่หาผู้เสมอมิได้ ผู้อื่นที่ชื่อว่าสามารถนำธุระของเราไปได้ ไม่มี
การที่ผู้สามารถนำธุระของเราไปได้ไม่พึงมีในบัดนี้ ไม่เป็นของอัศจรรย์ แม้ในกาลที่เราเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานที่เป็นอเหตุกกำเนิด ผู้อื่นที่สามารถนำธุระของเราไป ก็มิได้มีแล้วเหมือนกัน”
“ในกาลไรเล่า พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงนำอดีตนิทาน กัณหอุสภชาดก มาตรัส เมื่อจะทรงแสดงเรื่องนั้นนั่นแหละให้พิเศษยิ่งขึ้นไปอีก จึงตรัส นันทวิสาลชาดก
ก็แล พระผู้มีพระภาคครั้นตรัสแล้ว จึงเสด็จขึ้นสู่จงกรมแก้วนั้น ข้างหน้าได้มีบริษัทประมาณ ๑๒ โยชน์ ข้างหลัง ข้างซ้าย และข้างขวาก็เหมือนอย่างนั้น ส่วนโดยตรง มีประมาณ ๒๔ โยชน์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ในท่ามกลางบริษัท
เนินคัณฑามพพฤกษ์
ลักษณะของยมกปาฏิหาริย์
ญาณในยมกปาฏิหาริย์ของพระตถาคตเป็นไฉน ในญาณนี้ พระตถาคตทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ไม่ทั่วไปด้วยพวกสาวก
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องบน
สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องล่าง
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องล่าง
สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องบน
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องหน้า
สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องหลัง
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องหลัง
สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องหน้า
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระเนตรเบื้องขวา
สายน้ำไหลออกแต่พระเนตรเบื้องซ้าย
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระเนตรเบื้องซ้าย
สายน้ำไหลออกแต่พระเนตรเบื้องขวา
ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องขวา
สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องซ้าย
ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องซ้าย
สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระกรรณเบื้องขวา
ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระนาสิกเบื้องขวา
สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย
ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระนาสิกเบื้องซ้าย
สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระนาสิกเบื้องขวา
ท่อไฟพลุ่งออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องขวา
สายน้ำไหลออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย
ท่อไฟพลุ่งออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องซ้าย
สายน้ำไหลออกแต่จะงอยพระอังสาเบื้องขวา
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระหัตถ์เบื้องขวา
สายน้ำไหลออกแต่พระหัตถ์เบื้องซ้าย
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระหัตถ์เบื้องซ้าย
สายน้ำไหลออกแต่พระหัตถ์เบื้องขวา
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระปรัศว์เบื้องขวา
สายน้ำไหลออกแต่พระปรัศว์เบื้องซ้าย
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระปรัศว์เบื้องซ้าย
สายน้ำไหลออกแต่พระปรัศว์เบื้องขวา
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระบาทเบื้องขวา
สายน้ำไหลออกแต่พระบาทเบื้องซ้าย
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระบาทเบื้องซ้าย
สายน้ำไหลออกแต่พระบาทเบื้องขวา
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระองคุลี
สายน้ำไหลออกแต่ช่องพระองคุลี
ท่อไฟพลุ่งออกแต่ช่องพระองคุลี
สายน้ำไหลออกจากพระองคุลี
ท่อไฟพลุ่งออกแค่ขุมพระโลมาขุมหนึ่ง ๆ
สายน้ำไหลออกแต่พระโลมาเส้นหนึ่ง ๆ
ท่อไฟพลุ่งออกแต่พระโลมาเส้นหนึ่ง ๆ
สายน้ำไหลออกแต่ขุมพระโลมาขุมหนึ่ง ๆ
รัศมีทั้งหลายย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งสี ๖ อย่าง คือ เขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท ปภัสสร
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจงกรม
พระพุทธนิรมิตย่อมยืน นั่ง หรือสำเร็จการนอน
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืน
พระพุทธนิรมิตย่อมจงกรม นั่ง หรือสำเร็จการนอน
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง
พระพุทธนิรมิตย่อมจงกรม ยืน หรือสำเร็จการนอน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยา
พระพุทธนิรมิตย่อมจงกรม ยืน หรือนั่ง
พระพุทธนิรมิตจงกรม
พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงยืน ประทับนั่ง หรือสำเร็จสีหไสยา
พระพุทธนิรมิตทรงยืน
พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงจงกรม ประทับนั่ง หรือทรงสำเร็จสีหไสยา
พระพุทธนิรมิตประทับนั่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงจงกรม ประทับยืน หรือสำเร็จสีหไสยา
พระพุทธนิรมิตสำเร็จสีหไสยา
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงจงกรม ประทับยืน หรือประทับนั่ง
นี้เป็นญาณในยมกปาฏิหาริย์ของพระตถาคต
ก็พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมบนที่จงกรมนั้น ได้ทรงทำปาฏิหาริย์นี้แล้ว เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น ท่อไฟย่อมพลุ่งออกแต่พระกายเบื้องบนด้วยอำนาจเตโชกสิณสมาบัติของพระผู้มีพระภาคนั้น
สายน้ำไหลออกแต่พระกายเบื้องล่างด้วยอำนาจอาโปกสิณสมาบัติ
ท่อไฟพลุ่งออกที่ที่สายน้ำไหลออกแล้วอีก และสายน้ำก็ไหลออกที่ที่ท่อไฟพลุ่งออก
ท่อไฟมิได้เจือปนกับสายน้ำเลย อนึ่ง สายน้ำก็มิได้เจือด้วยท่อไฟ
ก็นัยว่าท่อไฟและสายน้ำทั้งสองนี้พลุ่งขึ้นไปตลอดถึงพรหมโลกแล้วก็ลุกลามไปที่ขอบปากจักรวาล
พระรัศมีพรรณะ ๖ ประการ ของพระผู้มีพระภาคนั้น พลุ่งขึ้นไปจากห้องแห่งจักรวาลหนึ่ง ดุจทองคำละลายคว้างซึ่งกำลังไหลออกจากเบ้า และดุจสายน้ำแห่งทองคำที่ไหลออกจากทะนานยนต์ จดพรหมโลกแล้วสะท้อนกลับมาจดขอบปากจักรวาลตามเดิม ห้องแห่งจักรวาลหนึ่งได้เป็นดุจเรือนต้นโพธิ์ที่ตรึงไว้ด้วยซี่กลอนอันคด มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน
ในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมทรงทำยมกปาฏิหาริย์แสดงธรรมกถาแก่มหาชนในระหว่าง ๆ และเมื่อทรงแสดง ไม่ทรงทำให้มหาชนให้หนักใจ ประทานให้เบาใจยิ่ง
ในขณะนั้น มหาชนยังสาธุการให้เป็นไปแล้ว ในเวลาที่มหาชนสาธุการ พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูจิตของบริษัทซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น ทรงทราบวาระจิตของคนหนึ่ง ๆ ด้วยอำนาจอาการ ๑๖ อย่าง จิตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นไปเร็วอย่างนี้
บุคคลใด ๆ เลื่อมใสในธรรมใด และในปาฏิหาริย์ใด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมและได้ทรงทำปาฏิหาริย์ด้วยอำนาจอัธยาศัยแห่งบุคคลนั้น ๆ
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมและทรงทำปาฏิหาริย์ด้วยอาการอย่างนี้ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่มหาชนแล้ว ก็พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดจิตของพระองค์ ไม่ทรงเห็นคนอื่นผู้สามารถจะถามปัญหาในสมาคมนั้น จึงทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิต พระผู้มีพระภาคทรงเฉลยปัญหาที่พระพุทธนิรมิตนั้นถามแล้ว พระพุทธนิรมิตนั้นก็เฉลยปัญหาที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามแล้ว
ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๒๐ โกฏิ ในสมาคมนั้น เพราะเห็นปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงทำอยู่อย่างนั้น และเพราะได้ฟังธรรมกถา
อ้างอิง: อรรถกถาเรื่อง ยมกปาฏิหาริย์ คาถาธรรมบท พุทธวรรค
ภาพประกอบ :
สถูปสถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Twinmiracle.jpg