21-41 พระมหากัสสปะทูลถามถึงเหตุที่สิกขาบทมีมากแต่ภิกษุผู้อยู่ในอรหัตตผลมีน้อย



สระน้ำในเชตวันวิหาร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นพระมหากัสสปนั่งเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลถามว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้เมื่อก่อนสิกขาบทมีน้อย และภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีมาก

และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ให้บัดนี้สิกขาบทมีมาก และภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีน้อย"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"ดูกรกัสสป ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ คือ เมื่อหมู่สัตว์เลวลง พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป สิกขาบทจึงมีมากขึ้น ภิกษุที่ตั้งอยู่ในพระอรหัตผลจึงน้อยเข้า

สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
ตราบนั้น พระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป
และสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด
เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป

ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
ตราบนั้น ทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป
และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น
ทองคำธรรมชาติจึงหายไป ฉันใด

พระสัทธรรมก็ฉันนั้น

สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
ตราบนั้น พระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป
เมื่อสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นเมื่อใด
เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป

ดูกรกัสสป
ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้
ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้
ที่แท้ โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก
เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป
เปรียบเหมือนเรือจะอัปปางก็เพราะต้นหนเท่านั้น

พระสัทธรรมยังไม่เลือนหายไปด้วยประการฉะนี้

ดูกรกัสสป
เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ยำเกรงในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

ดูกรกัสสป
เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม

เหตุ ๕ ประการเป็น ไฉน คือ

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพ ยำเกรงในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑

เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม

 

 

อ้างอิง : สัทธรรมปฏิรูปกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๕๓๑-๕๓๕ หน้า ๒๑๗-๒๑๘