1-45 พระผู้มีพระภาคให้โอวาทพระราหุล - การพิจารณาและชำระกรรม ๓



บริเวณที่คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งในอุทยานอัมพลัฏฐิกา

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทชื่อว่าอัมพลัฏฐิกา ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นอยู่แล้ว เสด็จเข้าไปยังอัมพลัฏฐิกาปราสาทที่ท่านพระราหุลอยู่ ท่านพระราหุลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงปูลาดอาสนะและตั้งน้ำ สำหรับล้างพระบาทไว้ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วทรงล้างพระบาท ท่านพระราหุลถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเหลือน้ำไว้ในภาชนะน้ำหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า

"ดูกรราหุล เธอเห็นน้ำเหลือหน่อยหนึ่งอยู่ในภาชนะน้ำนี้หรือ"

ท่านพระราหุลกราบทูลว่า "เห็นพระเจ้าข้า"

"ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็มีน้อยเหมือนกันฉะนั้น"

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งนั้นเสีย แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า

"ดูกรราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเทเสียแล้วหรือ"

"เห็น พระเจ้าข้า"


"ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาทิ้งเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า

"ดูกรราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้หรือ"

"เห็น พระเจ้าข้า"

"ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่เขาคว่ำเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น"

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า

"ดูกรราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้หรือ"

"เห็น พระเจ้าข้า"


"ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของว่างเปล่าเหมือนกันฉะนั้น"

"ดูกรราหุล เปรียบเหมือนช้างต้น มีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ช้างนั้นเข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหู ทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น เพราะการที่ช้างรักษาแต่งวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้วย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น ชีวิต ชื่อว่าช้างต้นยังไม่ยอมสละแล

ดูกรราหุล เมื่อใดแลช้างต้นมีงาอันงอนงามเป็นพาหนะที่เจริญ ยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหู ทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง เพราะการที่ช้างทำกรรมด้วยงวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ก็ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลัง ทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง


ชีวิต ชื่อว่าอันช้างต้นยอมสละแล้ว บัดนี้ไม่มีอะไรที่ช้างต้นจะพึงทำไม่ได้ ฉันใด ดูกรราหุล เรากล่าวว่า บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสา ทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูกรราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แว่นมีประโยชน์อย่างไร" 

มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า"

"ฉันนั้นเหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ"

การพิจารณาและชำระกรรม ๓

ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมนั้นเธอพึงพิจารณาเสียก่อนว่า

เราปรารถนาจะทำกรรมนี้ใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ

ดูกรราหุล ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรานี้...เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจโดยส่วนเดียว

แต่ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า


เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรานี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนั้น เธอพึงทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

แม้เมื่อเธอกำลัง ทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เธอก็พึงพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้นแหละว่า

เรากำลังทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียน ทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ

ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรานี้...เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเห็นปานนั้นเสีย

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า


เราทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและ ผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเห็นปานนั้น

ดูกรราหุล แม้เธอทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เธอก็พึงพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้นแหละว่า

เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ

ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกายกรรม วจีกรรมใด กายกรรม วจีกรรมของเรานี้...เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กายกรรม วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ในพระศาสนา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้วิญญู แล้วพึงสำรวมต่อไป

ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งมโนกรรมใด มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงกระดาก ละอาย เกลียดในมโนกรรมเห็นปานนั้น ครั้นแล้วพึงสำรวมต่อไป

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า


เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้นแหละ

ดูกรราหุล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล ได้ชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้นพิจารณา ๆ อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล จักชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ก็จักพิจารณา ๆ อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

ถึงสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในปัจจุบัน กำลังชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ ทั้งหมดนั้น ก็พิจารณา ๆ อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

เพราะ เหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักพิจารณา ๆ แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดูกรราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ"

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

 

 

อ้างอิง : จูฬราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๒๕-๑๓๒ หน้า ๑๐๔-๑๑๐