4-18 อัตตทัณฑสูตร - ภัยเกิดจากการป้องกันตนด้วยอาวุธ



แม่น้ำโรหิณี  เสด็จโปรดพระญาติที่วิวาทกันเพราะแย่งน้ำ

พระศาสดาตรัสเทศนา อัตตทัณฑสูตร แก่เจ้าศายะและเจ้าโกลิยะ ว่าดังนี้

ภัยเกิดแล้วแต่อาชญาของตน
ท่านทั้งหลายจงเห็นคนผู้ทะเลาะกัน
เราจักแสดงความสลดใจ...
ตามที่เราได้สลดใจมาแล้ว

เราได้เห็นหมู่สัตว์กำลังดิ้นรนอยู่
(ด้วยตัณหาและทิฐิ)
เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อย ฉะนั้น

ภัยได้เข้ามาถึงเราแล้ว
เพราะได้เห็นคนทั้งหลายผู้พิโรธกันและกัน

โลกโดยรอบหาแก่นสารมิได้
ทิศทั้งปวงหวั่นไหวแล้ว
เราปรารถนาความต้านทานแก่ตนอยู่
ไม่ได้เห็นสถานที่อะไร ๆ...
อันทุกข์...มีชรา... เป็นต้น ไม่ครอบงำแล้ว
เราไม่ได้มีความยินดี
...เพราะได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย
ผู้อันทุกข์...มีชรา... เป็นต้น กระทบแล้ว
ผู้ถึงความพินาศ

อนึ่ง เราได้เห็นกิเลสดุจลูกศร
มีราคะ เป็นต้น
ยากที่สัตว์จะเห็นได้
...อันอาศัยในหทัยสัตว์เหล่านี้
สัตว์ถูกกิเลสดุจลูกศร
มีราคะ เป็นต้นใด เสียบติดอยู่แล้ว...
ย่อมแล่นไปยังทิศทั้งปวง

บัณฑิตถอนกิเลสดุจลูกศร
มีราคะ เป็นต้น นั้นออกได้แล้ว
ย่อมไม่แล่นไปยังทิศ...
และไม่จมลงในโอฆะทั้งสี่
(อารมณ์ที่น่ายินดีในโลก)

หมู่มนุษย์ย่อมพากันเล่าเรียนศิลป
เพื่อให้ได้ซึ่งอารมณ์ที่น่ายินดีเหล่านั้น
...กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต
ไม่พึงขวนขวายในอารมณ์ที่น่ายินดีเหล่านั้น
พึงเบื่อหน่ายกามทั้งหลายโดยประการทั้งปวง
แล้วพึงศึกษานิพพานของตน

มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ
ไม่คะนอง ไม่มีมายา
ละการส่อเสียดเสีย
เป็นผู้ไม่โกรธ
พึงข้ามความโลภอันลามก
...และความตระหนี่เสีย 

นรชนพึงครอบงำความหลับ
ความเกียจคร้าน ความท้อแท้เสีย
ไม่พึงอยู่ร่วมด้วยความประมาท
ไม่พึงดำรงอยู่ในการดูหมิ่นผู้อื่น
พึงมีใจน้อมไปในนิพพาน
ไม่พึงน้อมไปในการกล่าวมุสา
ไม่พึงกระทำความเสน่หาในรูป
และพึงกำหนดรู้ความถือตัว
พึงเว้นเสียจากความผลุนผลัน แล้วเที่ยวไป

ไม่พึงเพลิดเพลินถึงอารมณ์ที่ล่วงมาแล้ว
ไม่พึงกระทำความพอใจในอารมณ์
...ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
ไม่พึงเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่กำลังละไปอยู่
ไม่พึงเป็นผู้อาศัยตัณหา

เรากล่าวความกำหนัดยินดีว่า
เป็นโอฆะอันใหญ่หลวง...
กล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องกระซิบใจ
ทำใจให้แล่นไปในอารมณ์ต่าง ๆ
กล่าวตัณหาว่าเป็นอารมณ์แอบใจ...
ทำใจให้กำเริบ

เปือกตมคือกาม ยากที่สัตว์จะล่วงไปได้
พราหมณ์ผู้เป็นมุนี ไม่ปลีกออกจากสัจจะแล้ว
ย่อมตั้งอยู่บนบกคือ นิพพาน

มุนีนั้นแล สละคืนอายตนะทั้งหมดแล้ว
...โดยประการทั้งปวง เรากล่าวว่า เป็นผู้สงบ 

มุนีนั้นแลเป็นผู้รู้เป็นผู้ถึงเวท
รู้สังขตธรรมแล้ว
อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัย
เป็นอยู่ในโลกโดยชอบ
ย่อมไม่ทะเยอทะยานต่ออะไร ๆในโลกนี้

ผู้ใดข้ามกามทั้งหลายและธรรมเป็นเครื่องข้อง
ยากที่สัตว์จะล่วงได้ในโลกนี้ได้แล้ว
ผู้นั้นตัดกระแสตัณหาขาดแล้ว ...ไม่มีเครื่องผูกพัน
ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่เพ่งเล็ง

ท่านจงทำกิเลสชาติเครื่องกังวล
...ในอดีตให้เหือดแห้ง
กิเลสชาติเครื่องกังวลในอนาคต...
อย่าได้มีแก่ท่าน
ถ้าว่าท่านจักไม่ถือเอาในปัจจุบันไซร้...
ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป

ผู้ใดไม่มีความยึดถือในนามรูป
...ว่าเป็น ของเราโดยประการทั้งปวง
และไม่เศร้าโศก...
เพราะเหตุแห่งนามรูป...อันไม่มี
ผู้นั้นแล...ย่อมไม่เสื่อมในโลก

ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวลว่า...
สิ่งนี้ของเรา และว่า... สิ่งนี้ของผู้อื่น
ผู้นั้นไม่ประสบการยึดถือในสิ่งนั้นว่า...
เป็นของเรา อยู่
ย่อมไม่เศร้าโศกว่า... ของเราไม่มี

บุคคลใดย่อมไม่เศร้าโศกว่า...
ของเราไม่มี 
เราเป็นผู้ถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว
จะบอกอานิสงส์ ๔ อย่างในบุคคลนั้น ดังนี้ว่า

บุคคลนั้นไม่มีความขวนขวาย
ไม่กำหนัดยินดี
ไม่มีความหวั่นไหว
เป็นผู้เสมอในอารมณ์ทั้งปวง
ธรรมชาติเครื่องปรุงแต่งอะไร ๆ...
...ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว ...ผู้รู้แจ้ง
ผู้นั้นเว้นแล้วจากการปรารภ
มีปุญญาภิสังขาร เป็นต้น
ย่อมเห็นความปลอดโปร่งในที่ทุกสถาน

มุนีย่อมไม่กล่าวยกย่องตน...
ในบุคคลผู้เสมอกัน... ผู้ต่ำกว่า... ผู้สูงกว่า...
มุนีนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากความตระหนี่
ย่อมไม่ยึดถือ ไม่สละธรรมอะไร ๆ
...ในบรรดาธรรม มีรูป เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอด คือ พระอรหัต ด้วยประการฉะนี้

เมื่อจบเทศนา ศากยกุมารและโกลิยกุมาร ๕๐๐ ได้ผนวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาภิกษุเหล่านั้นเสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน

 

 

อ้างอิง : อัตตทัณฑสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๒๒ หน้า ๓๘๖-๓๘๗