ท่านพระอานนท์รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยท่านพระอานนท์ เสด็จเข้าไปยังกุฏาคารสาลาป่ามหาวัน ครั้นแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
“ไปเถิดอานนท์ เธอจงให้ภิกษุทุกรูปเท่าที่อาศัยเมืองเวสาลีอยู่ มาประชุมที่อุปัฏฐานศาลา”
ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงให้ภิกษุทุกรูปเท่าที่อาศัยเมืองเวสาลีอยู่ มาประชุมที่อุปัฏฐานศาลา แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์ยืนเรียบร้อยแล้วได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด”
อภิญญาเทสิตธรรมกถา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรมเหล่านั้น พวกเธอเรียนแล้ว พึงส้องเสพ พึงให้เจริญ พึงกระทำให้มากด้วยดี โดยประการที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ก็ธรรมที่เราแสดงแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่งเหล่านั้นเป็นไฉน คือ
สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
มรรคมีองค์ ๘
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แลที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่งแก่พวกเธอ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน”
พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“คนเหล่าใด ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาล ทั้งบัณฑิต
ทั้งมั่งมี ทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า
ภาชนะดินที่นายช่างหม้อกระทำแล้ว
ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกชนิด
มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น"
พระศาสดาได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
"วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเป็นของน้อย เราจักละพวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว"
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลอันดีเถิด จงเป็นผู้มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใดจักเป็นผู้ไม่ประมาท อยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสาร แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังนี้
อ้างอิง : มหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๑๐๖-๑๐๘ หน้า ๙๙-๑๐๐