20-5 นางวิสาขาสร้างบุพพาราม



เสาอโศกภายในบริเวณบุพพารามหาวิหาร

ก็โดยสมัยนั้นแล ในกรุงสาวัตถีมีการมหรสพ ชนทั้งหลายแต่งตัวแล้วไปวิหาร แม้นางวิสาขามิคารมารดาก็แต่งตัวไปวิหาร ขณะกำลังเดินไปคิดว่า

“การที่เราสวมมหาลดาปสาธน์ที่มีค่ามากเห็นปานนี้ไว้บนศีรษะ แล้วประดับเครื่องอลังการจนถึงหลังเท้า เข้าไปสู่วิหาร ไม่ควร”

จึงเปลื้องเครื่องประดับนั้นออก ห่อไว้ ส่งให้หญิงคนใช้ แล้วกล่าวว่า

“แม่ จงรับเครื่องประดับนี้ไว้ ฉันจักสวมมันในเวลากลับจากสำนักของพระศาสดา”

ก็นางวิสาขาครั้นให้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้นแล้ว จึงสวมเครื่องประดับชื่อ ฆนมัฎฐกะ ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรม เมื่อจบพระธรรมเทศนา นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ลุกจากอาสนะ แล้วหลีกไป ฝ่ายหญิงคนใช้นั้นได้ลืมเครื่องประดับไว้ ท่านพระอานนทเถระเห็นเครื่องมหาลดาปสาธน์แล้ว จึงทูลแด่พระศาสดาว่า

“นางวิสาขาลืมเครื่องประดับไว้ พระพุทธเจ้าข้า”

“จงนำไปเก็บไว้เถิด อานนท์”

พระเถระนำเครื่องประดับนั้นเก็บคล้องไว้ที่ข้างบันได

ฝ่ายนางวิสาขาเที่ยวเดินไปภายในวิหารกับนางสุปปิยา ด้วยตั้งใจว่า

“เราจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่ภิกษุอาคันตุกะ ภิกษุผู้เตรียมตัวจะไป และภิกษุผู้เป็นไข้”

นางวิสาขาตรวจดูภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้เป็นไข้ แล้วก็ออกไป ได้มายืนอยู่ที่อุปจารวิหาร แล้วพูดว่า

“แม่ จงเอาเครื่องประดับมา ฉันจักแต่ง”

ในขณะนั้นหญิงคนใช้นั้น รู้ตัวว่าตนลืมไว้ จึงตอบว่า

“ดิฉันลืม แม่เจ้า”

“ถ้ากระนั้น จงไปเอามา แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอานนทเถระของเรา เก็บเอาไว้ในที่อื่น เจ้าอย่าเอามา ฉันบริจาคเครื่องประดับนั้นถวายพระผู้เป็นเจ้านั้นแล”

นัยว่า นางวิสาขานั้นย่อมรู้ว่า "พระอานนทเถระย่อมเก็บสิ่งของที่ชนลืมไว้" เพราะฉะนั้น จึงพูดอย่างนั้น

ฝ่ายพระอานนท์เถระพอเห็นนางคนใช้นั้น ก็ถามว่า

“เจ้ามาเพื่อประสงค์อะไร”

“ดิฉันลืมเครื่องประดับของแม่เจ้าของดิฉัน จึงได้มา”

“ฉันเก็บมันไว้ที่ข้างบันไดนั้น เจ้าจงเอาไป”

“พระผู้เป็นเจ้า ห่อภัณฑะที่ท่านเอามือถูกแล้ว แม่เจ้าของดิฉันสั่งว่า มิให้นำเอาไป”

ดังนี้แล้ว ก็กลับไปมือเปล่า แล้วบอกเนื้อความนั้น

นางวิสาขากล่าวว่า

“แม่ ฉันจักไม่ประดับเครื่องที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันถูกต้องแล้ว ฉันบริจาคแล้ว แต่พระผู้เป็นเจ้ารักษาไว้ ไม่ควร เจ้าจงไปเอาเครื่องประดับนั้นมา”

หญิงคนใช้นั้น ไปนำเอามาแล้ว นางวิสาขาสั่งให้เรียกพวกช่างทองมา แล้วให้ตีราคา พวกช่างทองเหล่านั้นตอบว่า

“มีราคาถึง ๖ โกฏิ แต่สำหรับค่าบำเหน็จต้องถึงแสน”

“ถ้ากระนั้น พวกท่านจงขายเครื่องประดับนั้น”

แต่ก็ไม่มีใครให้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นได้ เพราะหญิงผู้สมควรประดับเครื่องประดับนั้น หาได้ยาก แท้จริง หญิง ๓ คน เท่านั้นในปฐพีมณฑล ได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ คือ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ๑ นางมัลลิกาภรรยาของพันธุลมัลลเสนาบดี ๑ ลูกสาวของเศรษฐีกรุงพาราณสี ๑ เพราะฉะนั้น นางวิสาขาจึงให้ค่าเครื่องประดับนั้นเสียเองทีเดียว แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ ๑ แสน ขึ้นใส่เกวียน นำไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า พระอานนทเถระผู้เป็นเจ้าของหม่อมฉัน เอามือถูกต้องเครื่องประดับของหม่อมฉันแล้ว จำเดิมแต่กาลที่ท่านถูกต้องนั้น หม่อมฉันไม่อาจประดับเครื่องประดับนี้ได้ หม่อมฉันให้ขายเครื่องประดับนั้น ด้วยคิดว่า จักจำหน่าย น้อมนำเอาสิ่งอันเป็นกัปปิยะมา แต่ไม่มีใครสามารถรับไว้ได้ หม่อมฉันจึงรับค่าเครื่องประดับนั้นเสียเอง หม่อมฉันจะน้อมเข้าในปัจจัยไหนในปัจจัย ๔ พระพุทธเจ้าข้า”

“เธอควรทำที่อยู่เพื่อสงฆ์ ใกล้ประตูด้านปราจีนทิศ วิสาขา”

“สมควรแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”

นางมีใจเบิกบาน จึงเอาทรัพย์ ๙ โกฏิ ซื้อเฉพาะที่ดิน นางเริ่มสร้างวิหารด้วยทรัพย์อีก ๙ โกฏิ



บุพพารามมหาวิหาร เมืองสาวัตถี

การสร้างวิหารของนางวิสาขา ๙ เดือน แล้วเสร็จ

ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดา ทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยสมบัติของเศรษฐีบุตรนามว่า ภัททิยะ ผู้จุติจากเทวโลกแล้วเกิดในตระกูลเศรษฐีในภัททิยนคร ทรงทำภัตกิจในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังประตูด้านทิศอุดร

ในวันนั้น แม้นางวิสาขาพอทราบว่าพระศาสดาเสด็จดำเนินบ่ายพระพักตร์ไปทางประตูด้านทิศอุดร จึงรีบไปถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า

“ทรงประสงค์จะเสด็จดำเนินไปสู่ที่จาริกหรือ พระพุทธเจ้าข้า”

“อย่างนั้น วิสาขา”

“พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันบริจาคทรัพย์จำนวนเท่านี้ ให้สร้างวิหารถวายแด่พระองค์ โปรดเสด็จกลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

“นี้ เป็นการไป เรายังไม่กลับ วิสาขา”

นางวิสาขานั้น คิดว่า

“พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงเห็นใคร ๆ ผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุ เป็นแน่”

จึงกราบทูลว่า

“ถ้ากระนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่งผู้เข้าใจการงานที่หม่อมฉันทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำกลับ แล้วค่อยเสด็จเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

“เธอพอใจภิกษุรูปใด จงรับบาตรของภิกษุรูปนั้นเถิด วิสาขา”

แม้นางจะพึงใจพระอานนท์เถระก็จริง แต่คิดว่า

“พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้มีฤทธิ์ การงานของเราจักพลันสำเร็จก็เพราะอาศัยพระเถระนั่น”

ดังนี้แล้ว จึงรับบาตรของพระโมคคัลลานเถระไว้ พระเถระแลดูพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า

“โมคคัลลานะ เธอจงพาภิกษุบริวารของเธอ ๕๐๐ รูป กลับเถิด”

ท่านได้ทำตามพระดำรัสนั้น ด้วยอานุภาพของท่าน พวกชนผู้ไปเพื่อต้องการไม้และเพื่อต้องการหิน ระยะทางแม้ตั้ง ๕๐-๖๐ โยชน์ ก็ขนเอาไม้และหินมากมายมาทันในวันนั้นนั่นเอง แม้ยกไม้และหินใส่เกวียนก็ไม่ลำบากเลย เพลาเกวียนก็ไม่หัก ต่อกาลไม่นานนัก พวกเขาก็สร้างปราสาท ๒ ชั้นเสร็จ ปราสาทนั้นได้เป็นปราสาทประดับด้วยห้องพันห้อง คือ ชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง

พระศาสดาเสด็จดำเนินจาริกไปโดย ๙ เดือน แล้วได้เสด็จกลับมาสู่กรุงสาวัตถีอีก แม้การงานในปราสาทของนางวิสาขาก็สำเร็จโดย ๙ เดือน เหมือนกัน

นางให้สร้างยอดปราสาทอันจุน้ำได้ ๖๐ หม้อ ด้วยทองคำสีสุกที่บุเป็นแท่งนั่นแล นางทราบข่าวว่าพระศาสดาเสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร จึงทำการต้อนรับ นำพระศาสดาไปวิหารของตนแล้ว รับปฏิญญาว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดพาภิกษุสงฆ์ประทับอยู่ในวิหารนี้แหละตลอด ๔ เดือนนี้ หม่อมฉันจักทำการฉลองปราสาท”

พระศาสดาทรงรับแล้ว

นางวิสาขาทำบุญฉลองวิหาร

จำเดิมแต่กาลนั้น นางวิสาขานั้นย่อมถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในวิหารนั่นแล ครั้งนั้น หญิงสหายคนหนึ่งของนาง ถือผ้าผืนหนึ่งราคา ๑,๐๐๐ มา แล้วกล่าวว่า

“สหาย ฉันอยากจะใช้ผ้าผืนนี้เป็นเครื่องลาด ในปราสาทของท่าน ขอท่านช่วยบอกที่ลาดแก่ฉัน”

“สหาย ถ้าฉันจะบอกแก่ท่านว่า โอกาสไม่มี ท่านก็จักสำคัญว่า ฉันไม่ปรารถนาจะให้โอกาสแก่ท่าน

ท่านจงตรวจดูพื้นแห่งปราสาท ๒ ชั้น และห้อง ๑,๐๐๐ ห้อง แล้วรู้ที่ลาดเอาเองเถิด

หญิงสหายนั้น ถือผ้าราคา ๑,๐๐๐ เที่ยวเดินตรวจในที่นั้น ๆ ไม่เห็นผ้าที่มีราคาน้อยกว่าผ้าของตนนั้นแล้ว ก็เสียใจว่า

“เราไม่ได้ส่วนบุญในปราสาทนี้”

นางได้ยืนร้องไห้อยู่แล้วในที่แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น พระอานนทเถระ เห็นหญิงนั้น จึงถามว่า

“ท่านร้องไห้เพราะเหตุไร”

นางบอกเนื้อความนั้นแล้ว พระเถระกล่าวว่า

“อย่าคิดเลย เราจักบอกที่ลาดให้แก่ท่าน”

“ท่านจงลาดไว้ที่บันได ทำเป็นผ้าเช็ดเท้า ภิกษุทั้งหลาย ล้างเท้าแล้ว เช็ดเท้าที่ผ้านั้นก่อนจึงจักเข้าไปภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลเป็นอันมากก็จักมีแก่ท่าน”

ได้ยินว่า ที่นั่นเป็นสถานอันนางวิสาขามิได้กำหนดไว้ นางวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในภายในวิหาร ตลอด ๔ เดือน ในวันสุดท้าย ได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อทำจีวรแก่ภิกษุสงฆ์ ผ้าสาฎกเพื่อทำจีวรที่ภิกษุใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว มีราคาพันหนึ่ง นางได้ถวายเภสัชเต็มบาตรแก่ภิกษุทุกรูป เพราะการบริจาคทาน ทรัพย์ได้หมดไปถึง ๙ โกฏิ

นางวิสาขาบริจาคทรัพย์ในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ๒๗ โกฏิ คือ ในการซื้อพื้นที่แห่งวิหาร ๙ โกฏิ ในการสร้างวิหาร ๙ โกฏิ ในการฉลองวิหาร ๙ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้



นางวิสาขาเปล่งอุทานในวันฉลองวิหารเสร็จ

ในวันแห่งการฉลองวิหารเสร็จ เวลาบ่าย นางวิสาขาแวดล้อมด้วยบุตรและหลาน คิดว่า

“ความปรารถนาใด ๆ อันเราตั้งไว้แล้วในกาลก่อน ความปรารถนานั้น ๆ ทั้งหมดถึงที่สุดแล้ว”

นางเดินเวียนรอบปราสาท เปล่งอุทานนี้ ด้วยเสียงอันไพเราะว่า

“ความดำริของเราว่า 'เมื่อไรเราจักถวายปราสาทใหม่ ฉาบด้วยปูนขาวและดิน เป็นวิหารทาน' ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว

ความดำริของเราว่า 'เมื่อไรเราจักถวายเตียง ตั่ง ฟูก และหมอน เป็นเสนาสนภัณฑ์' ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว

ความดำริของเราว่า 'เมื่อไรเราจักถวายสลากภัต ผสมด้วยเนื้ออันสะอาด เป็นโภชนทาน' ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว

ความดำริของเราว่า 'เมื่อไร เราจักถวายผ้ากาสิกพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย เป็นจีวรทาน' ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว

ความดำริของเราว่า 'เมื่อไร เราจักถวายเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำมัน และน้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน' ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว”

ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินเสียงของนางแล้ว กราบทูลแด่พระศาสดาว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ชื่อว่าการขับร้องของนางวิสาขา พวกข้าพระองค์ไม่เคยเห็น วันนี้ นางแวดล้อมด้วยบุตรและหลาน ขับเพลงเดินเวียนรอบปราสาท ดีของนางกำเริบหรือหนอแล หรือนางเสียจริตเสียแล้ว”

“ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราหาขับเพลงไม่ แต่อัชฌาสัยส่วนตัวของเธอเต็มเปี่ยมแล้ว เธอดีใจว่า ความปรารถนาที่เราตั้งไว้ ถึงที่สุดแล้ว จึงเดินเปล่งอุทาน”

เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย นายมาลาการผู้ฉลาด ทำกองดอกไม้ต่าง ๆ ให้เป็นกองโตแล้ว ย่อมทำพวงดอกไม้มีประการต่าง ๆ ได้ ฉันใด จิตของนางวิสาขา ย่อมน้อมไปเพื่อทำกุศลประการต่าง ๆ ฉันนั้น เหมือนกัน

นายมาลาการพึงทำพวงดอกไม้ให้มากจากกองดอกไม้ แม้ฉันใด มัจจสัตว์ผู้มีอันจะพึงตายเป็นสภาพ ควรทำกุศลไว้ให้มาก ฉันนั้น”

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากได้เป็นอริยบุคคล มีโสดาบัน เป็นต้น เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย และอรรถกถา เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๗๓ ถึงหน้าที่ ๑๑๕