4-09 ความบริสุทธิ์แห่งทาน



ภายในนิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์

ดูกรอานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้ มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นไฉน

ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้ทาน)
...ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับทาน)

บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
...ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์
...ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์

บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก
...และฝ่ายปฏิคาหก

ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร  

ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก

อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก

 ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายกอย่างไร  

ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม

อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

ก็ทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์อย่างไร  

ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก

อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์

ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร  

ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม

อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก

ดูกรอานนท์ นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๕ อย่าง"

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ต่อไปอีกว่า

ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี
เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง
ให้ทานในคนทุศีล
ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม
มีจิตไม่เลื่อมใส
ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง
ให้ทานในคนมีศีล
ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก

ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม
มีจิตไม่เลื่อมใส
ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง
ให้ทานในคนทุศีล
เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผลไพบูลย์

ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี
เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง
ให้ทานในคนมีศีล
เรากล่าวทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์

ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม
มีจิตเลื่อมใสดี
เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง
ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ
ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย

 

 

อ้างอิง : ทักขิณาวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๗๑๔-๗๑๙ หน้า ๓๔๕-๓๔๖