14-02 พระราหุลสำเร็จอรหัตตผล



พระคันธกุฏี วิหารเชตวัน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับอยู่ในที่รโหฐาน ได้เกิดพระปริวิตกทางพระหฤทัยขึ้นอย่างนี้ว่า

“ราหุลมีธรรมที่บ่มวิมุตติแก่กล้าแล้วแล ถ้ากระไร เราพึงแนะนำราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้นเถิด”

ต่อนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองสบง ทรงบาตร จีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ได้ตรัสกะท่านพระราหุลว่า

“ดูกรราหุล เธอจงถือผ้ารองนั่ง เราจักเข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน”

“ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”

แล้วจึงถือผ้ารองนั่งติดตามพระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์

ก็สมัยนั้นแล เทวดาหลายพันตนได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไป ด้วยทราบว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงแนะนำท่านพระราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้น

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าถึงป่าอันธวันแล้ว จึงประทับนั่ง ณ อาสนะที่ท่านพระราหุลแต่งตั้ง ณ ควงไม้แห่งหนึ่ง แม้ท่านพระราหุลก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

จักษุ รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยแม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

โสตะ เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยแม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ฆานะ กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัสเที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยแม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ชิวหา รส ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยแม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ กายสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยแม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

มโน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยแม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา”

“ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”

พระราหุลสำเร็จอรหันต์

“ดูกรราหุล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุวิญญาณ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียง
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตวิญญาณ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่น
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานวิญญาณ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรส
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหาวิญญาณ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหาสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกายวิญญาณ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกายสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมารมณ์
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนวิญญาณ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น

เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี"

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระราหุลจึงชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสคำเป็นไวยากรณ์นี้อยู่ จิตของท่านพระราหุลหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

และเทวดาหลายพันตนนั้น ได้เกิดดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีหมดมลทินว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

 

 

อ้างอิง : จูฬราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๗๙๕-๘๐๙ หน้า ๓๘๑-๓๘๕