14-03 นางวิสาขาแต่งงาน



คาดว่าเป็นกำแพงพระราชวังพระเจ้าปเสนทิโกศล นครสาวัตถี

สมัยหนึ่ง ณ กรุงสาวัตถี บุตรของมิคารเศรษฐี ชื่อว่า ปุณณวัฒนกุมาร เจริญวัยแล้ว ครั้งนั้น มารดาบิดากล่าวกะเขาว่า

“พ่อ เจ้าจงเลือกเด็กหญิงคนหนึ่งในที่เป็นที่ชอบใจของเจ้า”

“ฉันไม่ต้องการภรรยา”

“เจ้าอย่าทำอย่างนั้นลูก ธรรมดาตระกูลที่ไม่มีบุตร ตั้งอยู่ไม่ได้”

เขาถูกมารดาบิดาพูดรบเร้าหลายครั้ง จึงกล่าวว่า

“ถ้ากระนั้น ถ้าได้หญิงสาวที่พร้อมด้วยความงาม ๕ อย่าง ฉันก็จักทำตามคำของคุณพ่อคุณแม่”

ลักษณะเบญจกัลยาณี

“ที่เรียกว่าความงาม ๕ อย่างนั้น อะไรเล่า พ่อ”

คือ ผมงาม

ก็ผมของหญิงผู้มีบุญมาก เป็นเช่นกับกำหางนกยูง แก้ปล่อยระชายผ้านุ่งแล้ว ก็กลับมีปลายงอนขึ้นตั้งอยู่ นี้ ชื่อว่าผมงาม

เนื้องาม

ริมผีปากเช่นกับผลตำลึงสุก ถึงพร้อมด้วยสีเรียบชิดสนิทดี นี้ ชื่อว่าเนื้องาม

กระดูกงาม

ฟันขาวเรียบไม่ห่างกัน งดงามดุจระเบียบแห่งเพชรที่เขายกขึ้นตั้งไว้ และดุจระเบียบแห่งสังข์ที่เขาขัดสีแล้ว นี้ ชื่อว่ากระดูกงาม

ผิวงาม

ผิวพรรณของหญิงดำ ไม่ลูบไล้ด้วยเครื่องประเทืองผิวเลย ก็ดำสนิท ประหนึ่งพวงอุบลเขียว ถ้าผิวพรรณของหญิงขาว ก็ประหนึ่งพวงดอกกรรณิการ์ นี้ ชื่อว่าผิวงาม

วัยงาม

ก็แลหญิงแม้ว่าคลอดแล้ว ตั้ง ๑๐ ครั้ง ก็เหมือนคลอดครั้งเดียว ยังสาวพริ้งอยู่เทียว นี้ ชื่อว่า วัยงาม ดังนี้แล

เศรษฐีส่งพราหมณ์ไปแสวงหาหญิงเบญจกัลยาณี

ครั้งนั้น มารดาบิดาของนายปุณณวัฒนกุมารนั้น เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาให้บริโภค แล้วถามว่า

“ชื่อว่าหญิงที่ต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี มีอยู่หรือ”

“จ้ะ มีอยู่”

“ถ้ากระนั้น พวกท่าน ๘ คน จงไปแสวงหาเด็กหญิงเห็นปานนี้”

ดังนี้แล้ว ให้ทรัพย์เป็นอันมาก สั่งว่า

“ท่านทั้งหลายไปเถิด แสวงหาเด็กหญิงแม้เห็นปานนั้น เมื่อพบแล้ว พึงให้พวงมาลัยทองคำนี้แก่นาง”

ดังนี้แล้ว ให้พวงมาลัยทองคำอันมีราคาแสนหนึ่ง แล้วส่งไป

พราหมณ์เหล่านั้น ไปยังนครใหญ่ ๆ แสวงหาอยู่ ไม่พบเด็กหญิงที่ต้องด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี เดินทางมาถึงเมืองสาเกตโดยลำดับ ในวันมีงานนักขัตฤกษ์ พวกพราหมณ์คิดกันว่า

“งานของพวกเราคงสำเร็จในวันนี้”

ก็ในวันมีงานนักขัตฤกษ์ประจำปี เป็นวันที่ชาวเมืองผู้ร่วมงานออกจากบ้าน แต่งกายเปิดเผยใบหน้า เดินสู่ริมแม่น้ำด้วยเท้า เป็นวันที่ชายหนุ่มจากหลายตระกูลจะคอยแอบมองดูหญิงสาวที่เดินมาตามทาง หากพบเด็กหญิงที่พึงใจ มีชาติตระกูลเสมอกับตนแล้ว จะคล้องด้วยพวงมาลัย

พราหมณ์พบนางวิสาขา

พวกพราหมณ์เข้าไปถึงศาลาแห่งหนึ่งที่ริมฝั่งแม่น้ำ ขณะนั้น นางวิสาขามีอายุย่างเข้า ๑๕ - ๑๖ ปี ประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ครบทุกอย่าง แวดล้อมด้วยหมู่เด็กหญิง ๕๐๐ คน นางวิสาขาคิดว่า

“เราจักไปยังแม่น้ำแล้วอาบน้ำ”

ขณะนั้น ได้เกิดฝนตก เด็กหญิง ๕๐๐ รีบเดินเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขาเดินตามปกติเข้าไปในศาลา ผ้าและอาภรณ์เปียกโชก พวกพราหมณ์เห็นความงาม ๔ อย่าง ของนางแล้ว ประสงค์จะเห็นฟัน จึงกล่าวกะกันและกันว่า

“คนเฉื่อยชา ใครเป็นสามีของนาง ก็คงจะได้กินแค่ปลายข้าว”

นางวิสาขาได้พูดกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า

“พวกท่านว่าใครกัน”

“ว่าเธอนั่นแหละ”

พวกพราหมณ์ได้ยินเสียงไพเราะของนาง ประหนึ่งเสียงกังสดาลทีเดียว

นางถามว่า

“ว่าฉัน เพราะเหตุใด”

“หญิงบริวารของเธอ วิ่งหนีฝนไม่ให้ผ้าและเครื่องประดับเปียก แต่เธอไม่วิ่ง”

“พ่อทั้งหลาย พวกท่านอย่าพูดอย่างนั้น ฉันแข็งแรงกว่าเด็กหญิงพวกนั้น แต่ฉันมีเหตุผลที่ไม่วิ่ง

“เหตุอะไร”

ชน ๔ จำพวกวิ่งไปไม่งาม

นางวิสาขากล่าวว่า

“เหตุแรก คือ ชน ๔ จำพวก เมื่อวิ่งย่อมไม่งาม”

“ชน ๔ จำพวกเหล่าไหน เมื่อวิ่งย่อมไม่งาม”

พระราชาผู้อภิเษกแล้ว ทรงประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวง เมื่อถกเขมรวิ่งไปในพระลานหลวง ย่อมไม่งาม ย่อมได้ความครหาเป็นแน่นอนว่า ‘ทำไม พระราชาองค์นี้ จึงวิ่งเหมือนคฤหบดี’ ค่อย ๆ เสด็จไปนั่นแหละ จึงจะงาม

ช้างมงคลของพระราชา ที่ประดับแล้ว วิ่งไปก็ไม่งาม ต่อเมื่อเดินไปด้วยลีลาแห่งช้าง จึงจะงาม

บรรพชิต เมื่อวิ่งก็ไม่งาม ย่อมได้แต่การครหาอย่างเดียวเท่านั้นว่า ‘ทำไมสมณะรูปนี้ จึงวิ่งไปเหมือนคฤหัสถ์’ แต่ย่อมงามด้วยการเดินอย่างผู้สงบเสงี่ยม

สตรี เมื่อวิ่งก็ไม่งาม ย่อมถูกเขาติเตียนอย่างเดียวว่า ‘ทำไม หญิงคนนี้จึงวิ่งเหมือนผู้ชาย’ แต่ย่อมงามด้วยการเดินอย่างธรรมดา”

“แล้วเหตุอื่นอีกล่ะ”

“มารดาบิดาย่อมทะนุทนอมอวัยวะของลูกสาว เพราะสตรีได้ชื่อว่า เป็นสิ่งที่มารดาบิดาพึงขาย ท่านเลี้ยงฉันมาเพื่อส่งไปตระกูลอื่น ถ้าฉันวิ่งแล้วหกล้ม มือหรือเท้าหัก ก็จะเป็นภาระของตระกูล ส่วนเครื่องแต่งตัวเปียกแล้วแห้ง ฉันจึงไม่วิ่งไป”

พราหมณ์สวมมาลัยทองให้

พวกพราหมณ์เห็นลักษณะของฟัน ในเวลานางพูด กล่าวว่า

“พวงมาลัยนี้สมควรแก่เธอเท่านั้น”

ดังนี้แล้ว จึงได้คล้องพวงมาลัยทองนั้นให้ นางจึงถามพวกเขาว่า

“พวกท่านมาจากเมืองไหน”

“จากเมืองสาวัตถี”

“ตระกูลเศรษฐี ชื่ออะไร”

“ชื่อมิคารเศรษฐี”

“บุตรของท่านเจ้าพระคุณ ชื่ออะไร”

“ชื่อปุณณวัฒนกุมาร”

นางเห็นว่า ตระกูลเสมอกัน จึงส่งข่าวให้บิดาของนางทราบ พวกพราหมณ์ตามไปเรือนของนางพบกับท่านธนัญชัยเศรษฐีผู้เป็นบิดา เศรษฐีถามพวกพราหมณ์นั้นว่า

“พวกท่านมาจากไหน”

“มาจากเมืองสาวัตถี ท่านมหาเศรษฐี”

“เศรษฐีชื่ออะไร”

“ชื่อมิคารเศรษฐี”

“บุตรชื่ออะไร”

“ชื่อปุณณวัฒนกุมาร”

“ทรัพย์มีเท่าไร”

“๔๐ โกฏิ”

เศรษฐีรับคำ ด้วยคิดว่า

“ทรัพย์ของเศรษฐีนั้น ถ้าเทียบกับทรัพย์ของเราก็นิดเดียว แต่ช่างเถิด ทรัพย์ไม่จำเป็นแก่ลูกเราหรอก เราต้องการชายที่จะดูแลลูกสาวของเราอย่างดีก็พอ”

เศรษฐีให้พวกพราหมณ์พักอยู่วันสองวัน แล้วส่งกลับ



พราหม์กลับเมืองสาวัตถี

พวกพราหมณ์กลับเมืองสาวัตถี แล้วแจ้งมิคารเศรษฐีว่า

“พวกข้าพเจ้าได้เด็กหญิงแล้ว”

“ลูกสาวของใคร”

“ของธนัญชัยเศรษฐี”

เศรษฐีนั้นคิดว่า

“เราได้บุตรสาวของตระกูลใหญ่ ควรที่เราจะนำนางมาสู่ตระกูลเราโดยเร็ว”

แล้วไปเข้าเฝ้ากราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงดำริว่า

“ตระกูลของธนัญชัยเป็นตระกูลที่เรานำมาจากราชสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร ควรที่เราจะไปด้วยตนเอง เพื่อให้เกียรติแก่พวกเขาที่ยอมมาอยู่ในแคว้นเรา”

จึงรับสั่งว่า

“แม้เราก็จักไป”

“ดีละ พระเจ้าข้า”

มิคารเศรษฐีจึงส่งข่าวไปว่า

“จะมีพระราชาและไพร่พลเสด็จร่วมงานด้วย ท่านสามารถรับรองได้หมดหรือไม่”

ฝ่ายธนัญชัยเศรษฐี ได้ส่งข่าวกลับไปว่า

“แม้ถ้าพระราชาจะเสด็จมาสัก ๑๐ พระองค์ ขอจงเสด็จมาเถิด เรารับรองได้ทั้งหมด”

มิคารเศรษฐี เว้นเพียงคนเฝ้าเรือน พาเอาคนในนครของพระเจ้าปเสนทิโกศลใหญ่ถึงเพียงนั้นร่วมเดินทางไป หยุดพักในหนทางครึ่งโยชน์ แล้วส่งข่าวให้ธนัญชัยเศรษฐีทราบ

ธนัญชัยเศรษฐีกับธิดาจัดสถานที่ต้อนรับ

ธนัญชัยเศรษฐีทราบข่าว ปรึกษากับนางวิสาขาจะต้อนรับอย่างไร

นางวิสาขาเป็นคนฉลาด มีปัญญาเฉียบแหลมดุจยอดเพชรเพราะได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป สมบูรณ์ด้วยการสั่งสมกุศลไว้ นางจัดแจงว่า

“ท่านทั้งหลาย จงจัดแจงเรือนหลังโน้น เพื่อพ่อผัวของเรา หลังโน้น เพื่อพระราชา หลังโน้น เพื่ออุปราช”

แล้วให้เรียกทาสและกรรมกรมา จัดการว่า

“พวกท่านเท่านี้คน จงทำกิจที่ควรทำแก่พระราชา เท่านี้คน จงทำกิจที่ควรทำแก่อุปราช

พวกท่านนั่นแลจงดูแลสัตว์พาหนะมีช้างและม้า คนที่เดินทางมาถึงแล้วจะได้เที่ยวชมมหรสพตามสบาย”

เครื่องแต่งตัวนางวิสาขา ๔ เดือน จึงแล้วเสร็จ

ในวันนั้นแล ธนัญชัยเศรษฐีให้เรียกช่างทอง ๕๐๐ คน มาแล้ว กล่าวว่า

“พวกท่านจงทำเครื่องประดับชื่อ มหาลดาปสาธน์ แก่ลูกสาวของเรา”

แล้วให้ทองคำมีสีสุกพันลิ่ม เงิน แก้วมณี แก้วมุกดา แก้วประพาฬ และเพชร เป็นต้น พอสมกับทองนั้น

๔ เดือน ล่วงไปแล้ว เครื่องประดับก็เสร็จ

ลักษณะเครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์

มหาลดาปสาธน์ประกอบด้วยเพชร ๔ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนาน ไม่ได้ใช้ด้ายร้อย แต่ใช้เงินถักร้อยเข้าด้วยกัน เมื่อสวมที่ศีรษะแล้ว ยาวลงจรดหลังเท้า

ลูกดุมที่เขาประกอบทำเป็นแหวนในที่นั้น ๆ ทำด้วยทอง ห่วงทำด้วยเงิน แหวนวงหนึ่งอยู่ท่ามกลางกระหม่อม หลังหูทั้งสอง ๒ วง ที่หลุมคอ ๑ วง ที่เข่าทั้งสอง ๒ วง ที่ข้อศอกทั้งสอง ๒ วง ที่ข้างสะเอวทั้งสอง ๒ วง

ในเครื่องประดับนั้น เขาทำนกยูงตัวหนึ่งไว้ ขนปีกนกยูงนั้นทำด้วยทอง ๕๐๐ ขน อยู่ที่ปีกเบื้องขวา อีก ๕๐๐ ขน ไว้ที่ปีกเบื้องซ้าย จงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณี คอและแววหางก็เหมือนกัน ก้านขนทำด้วยเงิน ขาก็เหมือนกัน

นกยูงนั้นตั้งอยู่กลางกระหม่อมของนางวิสาขา ปรากฏประหนึ่งนกยูงยืนรำแพนอยู่บนยอดเขา เสียงของก้านขนปีกหนึ่งพันดังประหนึ่งดนตรีทิพย์ และเหมือนเสียงกึกก้องของดนตรีประกอบด้วยองค์ ๕ คนทั้งหลายเข้าไปใกล้ ๆ จึงจะรู้ว่าไม่ใช่นกยูงจริง

เครื่องประดับนี้ มีมูลค่า ๙ โกฎิ เศรษฐีเสียค่าจ้างทำ ๑ แสน

ท่านเล่าว่า ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ นางได้ถวายผ้าสาฎก ด้าย เข็ม เครื่องย้อมของตนเอง แก่ภิกษุสองหมื่นรูปเพื่อทำจีวร

หญิงที่ถวายจีวรทาน ย่อมได้เครื่องประดับชื่อ มหาลดาปสาธน์ ส่วนชายผู้ถวายจีวรทาน ย่อมได้บาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ในยามกราบทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า

เศรษฐีจัดไทยธรรมให้นางวิสาขา

มหาเศรษฐีตระเตรียมไทยธรรมแก่ธิดา ดังนี้

เกวียน ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกกหาปณะเต็ม อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกภาชนะทองคำ อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกภาชนะเงิน อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกภาชนะทองแดง อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกภาชนะสำริด อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกผ้าด้ายผ้าไหม อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกเนยใส อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกน้ำมัน อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกน้ำอ้อย อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกข้าวสาลี อีก ๕๐๐ เล่ม
บรรทุกเครื่องอุปกรณ์ มีไถและผาล เป็นต้น

ขณะที่เศรษฐีกำลังให้ทรัพย์แก่ธิดาอยู่นั้น ภริยาของเศรษฐีได้พูดว่า 

“ท่านจัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างแก่ลูกของเรา แต่ทำไมไม่จัดคนรับใช้ไปด้วยเล่า”

“ที่เรายังไม่จัด เพราะไม่รู้ว่าใครรักลูกสาวเราบ้าง ถ้าเขาไม่อยากไป แม้จะบังคับให้ไป เขาก็จะไม่ไป แต่เราจะพูดตอนส่งลูกสาวว่า ‘ใครต้องการไปกับนางวิสาขาก็จงไป ใครไม่อยากไป ก็ไม่ต้องไป’”

โอวาท ๑๐ ข้อ ของหญิงผู้ออกเรือน

เศรษฐีคิดว่าลูกของเราจะไปพรุ่งนี้แล้ว จึงเรียกนางวิสาขาให้มานั่งใกล้ แล้วสอนว่า

“แม่ ธรรมดาหญิงผู้อยู่ในสกุลสามี ต้องรักษามรรยาทอย่างนี้ ๆ จึงจะควร”

ขณะนั้น มิคารเศรษฐีนั่งในห้องติดกัน ทำให้ได้ยินคำสอนเหล่านั้นด้วย ธนัญชัยเศรษฐีพร่ำสอนมารยาทแล้ว ให้โอวาท ๑๐ ข้อ อีกว่า

“แม่ ธรรมดาหญิงที่อยู่ในสกุลพ่อสามีแม่สามี

ไม่ควรนำไฟภายในออกไปภายนอก
ไม่ควรนำไฟภายนอกเข้าไปภายใน
พึงให้แก่คนที่ให้เท่านั้น
ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้
พึงให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้
พึงนั่งให้เป็นสุข
พึงบริโภคให้เป็นสุข
พึงนอนให้เป็นสุข
พึงบำเรอไฟ
พึงนอบน้อมเทวดาภายใน”

นางวิสาขาออกเดินทาง

ในวันรุ่งขึ้น เศรษฐีเรียกประชุมผู้ที่จะติดตามนางวิสาขาทั้งหมด แล้วแต่งตั้งกุฎุมพีผู้ใหญ่ ๘ คน ให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือนางวิสาขา และช่วยปกครองบริวารแทนตน สั่งคนทั้ง ๘ ว่า

“ถ้าโทษเกิดขึ้นแก่ลูกของเราในที่ที่ไปแล้ว พวกท่านก็พึงตัดสิน”

ดังนี้แล้ว ให้นางวิสาขาประดับด้วยมหาลดาปสาธน์ ซึ่งมีค่า ๙ โกฏิ และให้ทรัพย์ไปอีก ๕๔ โกฏิ เป็นค่าจุณสำหรับอาบ ให้ขึ้นบนยานแล้ว ให้คนเที่ยวตีกลองประกาศในบ้านส่วย ๑๔ ตำบล รอบ ๆ เมืองสาเกตว่า

“ใครอยากไปกับลูกสาวของเรา ก็จงไป”

ชาวบ้าน ๑๔ ตำบล พอได้ฟังข่าว จึงออกไปไม่เหลือใคร ๆ เลย ด้วยคิดว่า

“จักมีประโยชน์อะไรที่เราจะอยู่ในที่นี้ เมื่อแม่เจ้าของเราไปแล้ว”

ธนัญชัยเศรษฐีทำสักการะแด่พระเจ้าปเสนทิโกศลและมิคารเศรษฐีแล้ว ก็ตามไปส่งนางวิสาขากับคนเหล่านั้นหน่อยหนึ่ง

มิคารเศรษฐีนั่งบนยานตามไปข้างหลังยานทั้งหมด ได้เห็นหมู่ชนจำนวนมาก จึงถามว่า

“คนเหล่านั้นเป็นพวกไหน”

คนรับใช้ตอบว่า

“เป็นทาสหญิงทาสชาย ผู้รับใช้ของหญิงสะใภ้ท่าน”

“ใครจักเลี้ยงดูคนมากมายอย่างนี้ได้ พวกท่านจงไปโบยตี ขับไล่คนพวกนั้นให้หนีไปให้หมด”

นางวิสาขาได้ยินแล้ว ร้องห้ามว่า

“อย่าได้ขับไล่คนเหล่านั้น เราจะเลี้ยงดูพวกเขาเอง”

แต่มิคารเศรษฐีก็ไม่ยินยอม กล่าวว่า

“แม่ เราไม่ต้องการคนเหล่านั้น ใครจะเลี้ยงดูได้ทั้งหมด”

แล้วให้คนของตนทุบตีขับไล่คนเหล่านั้นด้วยก้อนดินและท่อนไม้ เป็นต้น คนบางพวกหนีกลับไป เหลืออยู่จำนวนหนึ่งติดตามไป

นางวิสาขาถึงนครสาวัตถี

ครั้นเดินทางมาถึงประตูเมืองกรุงสาวัตถี นางวิสาขาคิดว่า

“หากเรานั่งในยานนี้ ก็จะไม่มีใครเห็นความพิเศษของเครื่องประดับชื่อ มหาลดาปสาธน์ เราควรจะยืนบนรถ ชาวพระนครจะได้เห็นเครื่องประดับ”

แล้วนางก็ยืนบนรถแสดงตนแก่ชาวกรุงสาวัตถี เข้าสู่พระนครชาวกรุงสาวัตถีเห็นแล้ว พูดกันว่า

“นั่นนางวิสาขา มหาลดาปสาธน์สมควรแก่นางแล้ว”

แล้วส่งเครื่องบรรณาการมากบ้างน้อยบ้างไปต้อนรับนางวิสาขาตามกำลังของตน ๆ พวกเขาต้องการตอบแทนการต้อนรับของธนัญชัยเศรษฐีบิดาของนางวิสาขา ครั้งที่พวกตนไปพักอาศัยที่สาเกตนานถึง ๔ เดือน

นางวิสาขารับของบรรณาการเหล่านั้นแล้ว ทำให้เป็นประโยชน์โดยการส่งไปให้ตระกูลต่าง ๆ ในพระนคร ด้วยคำไพเราะ เหมาะแก่วัยของคนต่าง ๆ ว่า

“ท่านจงให้สิ่งนี้แก่คุณแม่ของฉัน จงให้สิ่งนี้แก่คุณพ่อของฉัน จงให้สิ่งนี้แก่พี่ชาย น้องชายของฉัน จงให้สิ่งนี้แก่พี่สาว น้องสาวของฉัน”

แล้วให้คนของตนนำสิ่งของเหล่านั้นไปตามตระกูลต่าง ๆ ทำชาวพระนครให้เป็นเสมือนญาติ

ต่อมาในคืนหนึ่ง แม่ลาตัวที่เป็นแม่ม้าอาชาไนยได้ตกลูก นางวิสาขาให้พวกทาสีถือคบเพลิงไปที่โรงเลี้ยงม้า แล้วอาบน้ำอุ่น ทาน้ำมันให้แม่ลา แล้วกลับไปที่เรือน

บิดาสามีเลี้ยงพวกนักบวชเปลือย

การทำอาวาหมงคลของบุตรชายนั้น มิคารเศรษฐีไม่ได้คำนึงพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ แม้พระองค์จะประทับอยู่ไม่ไกล เพราะท่านเลื่อมใสต่อพวกสมณะเปลือย

วันหนึ่ง ได้เชิญพวกชีเปลือย ๕๐๐ คน มาบริโภคข้าวปายาส และอาหารอื่น ๆ ที่ประณีตในเรือน แล้วให้คนไปตามนางวิสาขา เมื่อนางมาแล้ว เศรษฐีกล่าวว่า

“เธอจงไหว้พระอรหันต์ทั้งหลาย”

นางวิสาขาเป็นอริยสาวิกาผู้โสดาบัน พอได้ยินคำว่า ‘พระอรหันต์’ ก็ดีใจ มาสู่ที่บริโภคแห่งอเจลกะเหล่านั้น เหลือบมองดู แล้วคิดว่า 

“ผู้ไม่มีหิริโอตตัปปะเช่นนี้ จะชื่อว่าพระอรหันต์ได้อย่างไร”

แล้วลุกกลับไปที่อยู่ของตน

พวกอเจลกะเปลือยเหล่านั้น เห็นและได้ยิน จึงตำหนิเศรษฐีว่า

“คฤหบดี ท่านไม่ได้หญิงอื่นแล้วหรือ จึงให้สาวิกาของสมณโคดมผู้เป็นกาลกิณีมาอยู่ในเรือน จงขับไล่นางออกจากเรือนนี้โดยเร็ว”

เศรษฐีไม่อาจทำเช่นนั้น เพราะนางนั้นมาจากตระกูลใหญ่ อีกอย่างถ้อยคำนี้ก็เล็กน้อย จึงกล่าวขอโทษว่า

“นางยังเด็กอยู่ รู้บ้างไม่รู้บ้าง ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายอย่างถือสานางเลย”

เมื่อส่งพวกอเจลกะไปหมดแล้ว เศรษฐีก็นั่งบนอาสนะมีค่ามาก กินข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อยในถาดทองคำ

นางวิสาขาถูกขับออกจากเรือน

ขณะนั้น มีพระภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง กำลังเที่ยวบิณฑบาต หยุดยืนอยู่หน้าประตูเรือน นางวิสาขายืนพัดให้พ่อสามี จึงบังอยู่ นางเห็นพระภิกษุแล้ว ยืนเลี่ยง เพื่อให้พ่อสามีเห็นท่าน แต่พ่อสามีทำเป็นไม่เห็น ก้มหน้ากินอาหารต่อไป

นางวิสาขารู้ว่าพ่อผัวของเรา แม้เห็นพระเถระแต่ไม่เอาใจใส่ จึงกล่าวว่า

“นิมนต์ไปข้างหน้าเถิดเจ้าค่ะ พ่อสามีของดิฉันกำลังกินของเก่า”

เศรษฐีได้ฟังแล้วโกรธมาก เรียกทาสและกรรมกรมา ให้นำข้าวปายาสออกไป กล่าวว่า

“จงขับไล่นางนั่น ออกจากเรือนนี้ นางคนนี้ บังอาจว่าเรากินของไม่สะอาด”

แต่ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้นางวิสาขา เพราะคนเหล่านั้นล้วนเป็นคนที่บิดาส่งมาดูแลปรนนิบัตินางวิสาขาโดยเฉพาะ นางวิสาขาฟังคำขับไล่แล้ว กล่าวว่า

“ดิฉันจะไม่ไปด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพราะท่านนำดิฉันมาเพื่อเป็นสะใภ้ มิใช่เป็นนางกุมภทาสีที่ใช้ให้แบกหม้อน้ำ ขอให้เรียกผู้ใหญ่ ๘ คน ที่คุณพ่อของดิฉันส่งมาคอยดูแล ให้วินิจฉัยความผิดของดิฉัน”

เศรษฐีเห็นด้วย เรียกคนทั้ง ๘ มา แล้วกล่าวโทษนางว่า

“นางทาริกานี้ ว่าฉันซึ่งนั่งรับประทานข้าวปายาสมีน้ำข้นในถาดทองว่า ‘ผู้กินของไม่สะอาด’ พวกท่านยกโทษนางวิสาขานี้ขึ้นแล้ว จงนำนางออกจากเรือนนี้”

กุฎุมพีถามนางวิสาขาว่า

“ทราบว่าอย่างนั้นหรือ แม่”

“ดิฉันไม่ได้พูดอย่างนั้น แต่เมื่อพระภิกษุผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งยืนอยู่ที่ประตูเรือน พ่อสามีของดิฉันกำลังรับประทานข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อย ไม่ใส่ใจพระภิกษุนั้น ฉันคิดว่า พ่อสามีของเราไม่ทำบุญในอัตภาพนี้ บริโภคแต่บุญเก่าเท่านั้น จึงได้พูดว่า 'นิมนต์ไปข้างหน้าเถิด เจ้าข้า พ่อสามีของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า' โทษอะไรของดิฉันจะมีในเพราะเหตุนี้เล่า”

“ท่านเศรษฐี โทษในเพราะเหตุนี้ มิได้มี นางกล่าวชอบ เหตุไรท่านจึงโกรธ”

“ท่านทั้งหลาย โทษอันนี้เป็นอันพ้นไปก่อน วันหนึ่ง นางวิสาขามีคนใช้ชายหญิงติดตามไปหลังเรือนตอนเที่ยงคืน”

“ทราบว่า อย่างนั้นหรือ แม่”

“พ่อทั้งหลาย ดิฉันไม่ได้ไปเพราะเหตุอื่น ก็เมื่อนางลาแม่ม้าอาชาไนยตกลูกใกล้เรือนนี้ ดิฉันคิดว่า การที่นั่งเฉยไม่เอาเป็นธุระเสียเลย ไม่สมควร จึงให้คนถือประทีปไปกับพวกหญิงคนใช้ ให้ทำการดูแลแม่ลาที่ตกลูก ในเพราะเหตุนี้ ดิฉันจะมีโทษอะไร”

“ท่านเศรษฐี นางทำสิ่งที่แม้พวกหญิงคนใช้ไม่พึงทำในเรือนของท่าน ท่านยังเห็นโทษอะไรในเพราะเหตุนี้”

“ท่านทั้งหลาย แม้ในเรื่องนี้จะไม่มีโทษ ก็ช่างเถอะ แต่ว่าบิดาของนางวิสาขานี้ เมื่อกล่าวสอนนางวิสาขาในเวลาจะมาที่นี้ ได้ให้โอวาท ๑๐ ข้อ ซึ่งลี้ลับปิดบัง เราไม่ทราบเนื้อความแห่งโอวาทนั้น นางจงบอกเนื้อความแห่งโอวาทนั้นแก่เรา

ก็บิดาของนางนี้ ได้บอกว่า ‘ไฟในไม่พึงนำออกไปภายนอก’ พวกเราสามารถที่จะไม่ให้ไฟแก่เรือนที่คุ้นเคยได้หรือ”

“ทราบว่า อย่างนั้นหรือ แม่”

“พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉันมิได้พูดหมายความดังนั้น แต่ได้พูดหมายความ ดังนี้ว่า

แม่ เจ้าเห็นโทษของแม่สามีพ่อสามีและสามีของเจ้าแล้ว อย่านำไปพูดภายนอกเรือน เพราะว่าขึ้นชื่อว่าไฟ เช่นกับไฟชนิดนี้ ย่อมไม่มี”

“ท่านทั้งหลาย ข้อนั้นยกไว้ก่อน ก็บิดาของนางวิสาขานี้ กล่าวว่า ‘ไฟแต่ภายนอก ไม่พึงให้เข้าไปภายใน’ พวกเราจะไม่ไปนำไฟมาจากภายนอกหรือ ในเมื่อไฟในเรือนดับ”

“ทราบว่า อย่างนั้นหรือ แม่”

“พ่อทั้งหลาย คุณพ่อของดิฉันไม่ได้พูดหมายความดังนั้น แต่ได้พูดหมายความ ดังนี้ว่า

ถ้าหญิงหรือชายทั้งหลายในบ้านใกล้เรือนเคียงของเจ้า พูดถึงโทษของแม่สามีพ่อสามีและสามี เจ้าอย่านำเอาคำที่ชนพวกนั้นพูดแล้ว มาพูดอีกว่า ‘คนชื่อโน้นพูดยกโทษอย่างนั้นของท่านทั้งหลาย’ เพราะขึ้นชื่อว่าไฟ เช่นกับไฟนั่น ย่อมไม่มี”

นางวิสาขาได้พ้นโทษ เพราะเหตุนี้อย่างนี้ ก็นางพ้นโทษในเพราะเหตุนี้ฉันใด แม้ในคำที่เหลือ นางก็ได้พ้นโทษฉันนั้นเหมือนกัน

เศรษฐีได้ฟังเนื้อความแห่งโอวาท ๑๐ ข้อนี้ อย่างนั้นแล้ว ไม่เห็นคำโต้เถียง ได้นั่งก้มหน้าแล้ว

ครั้งนั้น กุฎุมพีทั้งหลาย ถามเศรษฐีนั้นว่า

“ท่านเศรษฐี โทษอย่างอื่นของนาง ยังมีอีกไหม”

“ไม่มีแล้ว ท่าน”

“เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร ท่านจึงให้ขับไล่นางผู้ไม่มีความผิด ออกจากเรือน โดยไม่มีเหตุเล่า”

มิคารเศรษฐีขอโทษนางวิสาขา

เมื่อกุฎุมพีทั้งหลายพูดอย่างนั้นแล้ว นางวิสาขาได้พูดว่า

“ดิฉันไม่มีความผิด จึงจะไม่ไปจากเรือนตามคำของพ่อสามี แต่จะไปเพราะดิฉันเห็นว่าควรไปได้”

ดังนี้แล้ว จึงสั่งคนใช้หญิงชายทั้งหลายว่า

“พวกเจ้าจงช่วยกันจัดแจงพาหนะและข้าวของ เพื่อกลับสู่เรือนบิดาที่สาเกต”

เศรษฐีได้ฟังแล้ว จับมือกุฎุมพีเหล่านั้นไว้ แล้วกล่าวกะนางว่า

“แม่ ฉันไม่รู้แล้วพูด ยกโทษให้ฉันเถิด”

“คุณพ่อ ดิฉันยกโทษที่ควรยกให้แก่คุณพ่อได้โดยแท้ แต่ดิฉันเป็นธิดาของตระกูลผู้มีความเลื่อมใสอันไม่ง่อนแง่นในพระพุทธศาสนา พวกดิฉันหากไม่ได้บำรุงภิกษุสงฆ์แล้ว จะเป็นอยู่ไม่ได้ แต่หากดิฉันได้บำรุงภิกษุสงฆ์ตามความพอใจของดิฉัน ดิฉันจึงจะอยู่”

“แม่ เจ้าจงบำรุงพวกสมณะของเจ้าตามความชอบใจเถิด”

มิคารเศรษฐีฟังธรรมของพระพุทธเจ้า

นางวิสาขาให้คนไปทูลนิมนต์พระทศพล แล้วเชิญเสด็จให้เข้าไปสู่นิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น ฝ่ายพวกสมณะเปลือยได้ยินว่าพระศาสดาเสด็จไปยังเรือนของมิคารเศรษฐี จึงไปนั่งล้อมเรือนไว้ นางวิสาขาถวายน้ำทักษิโณทก แล้วส่งข่าวไปว่า

“ดิฉันตกแต่งเครื่องสักการะทั้งปวงไว้แล้ว เชิญพ่อสามีของดิฉันมาอังคาสพระทศพลเถิด”

ครั้งนั้น พวกอเจลกะห้ามมิคารเศรษฐีว่า 

“คฤหบดี ท่านอย่าไปเลย”

เศรษฐีจึงส่งข่าวไปว่า

“สะใภ้ของฉัน จงอังคาสเองเถิด”

นางอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ได้ส่งข่าวไปอีกว่า

“เชิญพ่อสามีของดิฉันมาฟังธรรมกถาเถิด”

เศรษฐีคิดว่า

“การไม่ไปคราวนี้ ไม่สมควรอย่างยิ่ง”

ทีนั้น พวกอเจลกะกล่าวกะเศรษฐีว่า

“ถ้ากระนั้น เมื่อท่านฟังธรรมของพระสมณโคดม จงนั่งฟังภายนอกม่าน”

ดังนี้แล้ว พวกอเจลกะจึงล่วงหน้าไปก่อนเศรษฐีนั้น แล้วกั้นม่านไว้ เศรษฐีไปนั่งภายนอกม่าน พระศาสดาตรัสว่า

“ท่านที่นั่งนอกม่านก็ตาม ที่ฝาเรือนคนอื่นก็ตาม ฟากภูเขาหินโน้นก็ตาม ฟากจักรวาลโน้นก็ตาม เราชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า ย่อมสามารถให้ท่านได้ยินเสียงของเราได้”

ดังนี้แล้ว ทรงเริ่มอนุปุพพิกถาเพื่อแสดงธรรม

ก็เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ ชนผู้ยืนอยู่ข้างหน้าก็ตาม ข้างหลังก็ตาม อยู่เลยร้อยจักรวาล พันจักรวาลก็ตาม อยู่ในภพอกนิษฐ์ก็ตาม ย่อมกล่าวกันว่า 'พระศาสดาย่อมทอดพระเนตรดูเราคนเดียว ทรงแสดงธรรมโปรดเราคนเดียว' แท้จริง พระศาสดาเป็นดุจทอดพระเนตรดูชนนั้น ๆ และเป็นดุจตรัสกับคนนั้น ๆ

พระพุทธเจ้าทั้งหลายอุปมาดังพระจันทร์ ย่อมปรากฏเหมือนประทับยืนอยู่ตรงหน้าแห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้ยืนอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง

เหมือนพระจันทร์ลอยอยู่แล้วในกลางหาว ย่อมปรากฏแก่ปวงสัตว์ว่า พระจันทร์อยู่บนศีรษะของเรา พระจันทร์อยู่บนศีรษะของเรา

นี้เป็นผลแห่งทานที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตัดพระเศียรที่ประดับแล้ว ทรงควักพระเนตรที่หยอดดีแล้ว ทรงชำแหละเนื้อหทัยแล้ว ทรงบริจาคโอรสเช่นพระชาลี ธิดาเช่นกับนางกัณหาชินา ปชาบดีเช่นกับพระนางมัทรีให้แล้ว เพื่อเป็นทาสของผู้อื่น

นางวิสาขาได้นามว่ามิคารมารดา

ฝ่ายมิคารเศรษฐีฟังธรรมเทศนาขณะนั่งอยู่ภายนอกม่าน ได้บรรลุโสดาปัตติผล มีศรัทธามั่นคง หมดความสงสัยในรัตนตรัย ได้กล่าวกับนางวิสาขาว่า

“เจ้าจงเป็นมารดาของฉัน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

ตั้งแต่วันนั้น นางวิสาขาได้ชื่อว่า มิคารมารดา

ภายหลังได้บุตรชาย จึงได้ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า มิคาระ

มหาเศรษฐีไปหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า นวดเฟ้นพระบาทด้วยมือ จูบด้วยปาก และประกาศชื่อ ๓ ครั้งว่า

“ข้าพระองค์ชื่อ มิคาระ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่ทราบตลอดกาลเพียงเท่านี้ ‘ทานที่บุคคลให้แล้ว ในศาสนานี้ มีผลมาก’

ข้าพระองค์ทราบผลแห่งทานในบัดนี้ ก็เพราะอาศัยหญิงสะใภ้ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทุกข์ทั้งปวง หญิงสะใภ้ของข้าพระองค์เมื่อมาสู่เรือนนี้ ก็มาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์

ข้าพระองค์นั้น ย่อมรู้ทั่วถึงทานที่บุคคลให้แล้ว ในเขตที่บุคคลให้แล้วมีผลมากในวันนี้ หญิงสะใภ้คนดีของข้าพระองค์มาสู่เรือน เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์หนอ”

นางวิสาขาทูลนิมนต์พระศาสดาเพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น

ในวันรุ่งขึ้น แม่สามีก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ตั้งแต่นั้นมา เรือนหลังนั้น ได้เปิดประตูเพื่อพระศาสนา

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏ เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๗๓ ถึงหน้าที่ ๑๑๕