14-08 ขุมทรัพย์ที่แม้พระเจ้าปเสนทิโกศลก็นำไปไม่ได้



คาดว่าเป็นอาณาเขตพระราชวังพระเจ้าปเสนทิโกศล

ในกรุงสาวัตถี คฤหบดีคนหนึ่งมั่งคั่ง  มีทรัพย์มาก  มีโภคะมาก  เขาเป็นคนมีศรัทธาปสาทะ มีใจปราศจากมลทินคือ ความตระหนี่  อยู่ครองเรือน วันหนึ่ง เขาถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข 

สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระราชประสงค์ทรัพย์ จึงทรงส่งราชบุรุษคนหนึ่งไปที่บ้านของคฤหบดีนั้น ด้วยพระราชดำรัสสั่งว่า 

"พนาย  เจ้าจงไปนำคฤหบดีชื่อนี้มา"

ราชบุรุษผู้นั้นได้ไปยังบ้านของคฤหบดีนั้น และกล่าวว่า

"ท่านคฤหบดี พระราชาขอเชิญ"

ท่านคฤหบดี มีใจประกอบด้วยคุณ มีศรัทธาเป็นต้น กำลังอังคาสเลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  จึงกล่าวว่า 

"ไปก่อนเถิดท่านราชบุรุษ ข้าพเจ้าจะตามไปทีหลัง ข้าพเจ้าจะฝังขุมทรัพย์ในขณะนี้เสียก่อน"

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จ ทรงชักพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว เพื่อทรงแสดงบุญสัมปทาว่านิธิโดยปรมัตถ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า 

ขุมทรัพย์ที่คนนำไปได้

บุรุษย่อมฝังขุมทรัพย์ไว้ในน้ำลึก
ด้วยคิดว่า เมื่อกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น
ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา
เพื่อเปลื้องตนจากราชภัยบ้าง
เพื่อช่วยตนให้พ้นจากโจรภัยบ้าง
เพื่อเปลื้องหนี้บ้าง
ในคราวทุพภิกขภัยบ้าง
ในคราวคับขันบ้าง
ขุมทรัพย์ที่เขาฝั่งไว้ในโลก ก็เพื่อประโยชน์นี้แล

ขุมทรัพย์นั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์
แก่เขาไปทั้งหมดในกาลทุกเมื่อ
เพราะขุมทรัพย์เคลื่อนจากที่ไปเสียบ้าง 
ความจำของเขาคลาดเคลื่อนเสียบ้าง 
นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง 
ยักษ์ทั้งหลายลักไปเสียบ้าง
ผู้รับมรดกที่ไม่เป็นที่รักขุดเอาไปเมื่อเขาไม่เห็นบ้าง

ในเวลาที่เขาสิ้นบุญ  ขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้นย่อมสูญไป

ขุมทรัพย์ที่ใครก็นำไปไม่ได้

ขุมทรัพย์คือ บุญ ของผู้ใด
เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม
ฝังไว้ดีแล้วด้วยทาน ศีล 
ความสำรวม ความฝึกตน (ภาวนา)
ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี
ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี 
ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี ในพี่ชายก็ดี
ขุมทรัพย์นั้น ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว
ใคร ๆไม่อาจผจญได้
เป็นของติดตามตนไปได้ 
บรรดาโภคะ ทั้งหลายที่เขาจำต้องละไป
เขาก็พาขุมทรัพย์คือบุญนั้นไป

ขุมทรัพย์คือ บุญ
ไม่สาธารณะแต่ชนเหล่าอื่น
โจรก็ลักไปไม่ได้
บุญนิธิอันใดติดตามตนไปได้
ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น
บุญนิธินั้นอำนวยผลที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เทวดาและมนุษย์ปรารถนานักซึ่งอิฐผลใด ๆ 
อิฐผลทั้งหมดนั้น ๆ  อันบุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

ความมีวรรณะงาม
ความมีเสียงเพราะ 
ความมีทรวดทรงดี 
ความมีรูปงาม 
ความเป็นใหญ่ยิ่ง
ความมีบริวาร
อิฐผลทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

ความเป็นพระราชาเฉพาะประเทศ 
ความเป็นใหญ่  (คือจักรพรรดิราช) 
สุขของพระเจ้าจักรพรรดิที่น่ารัก
ความเป็นพระราชาแห่งเทวดา
ในทิพยกายทั้งหลาย  
อิฐผลทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

สมบัติของมนุษย์
ความยินดีในเทวโลก
และสมบัติคือพระนิพพานอันใด
อิฐผลทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

ความที่บุคคลอาศัยสัมปทา
คุณเครื่องถึงพร้อมคือมิตรแล้ว
ถ้าประกอบโดยอุบายที่ชอบ
เป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ 
อิฐผลทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมี
ปัจเจกโพธิ และพุทธภูมิอันใด 
อิฐผลทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้

บุญสัมปทา
คุณเครื่องถึงพร้อมคือบุญนั้น
เป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่อย่างนี้ 
เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญา
จึงสรรเสริญความเป็นผู้ทำบุญไว้

จบเทศนา คฤหบดีนั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมด้วยชนเป็นอันมาก และเขาก็เข้าเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลเรื่องราวนั้น พระราชาทรงยินดีอย่างเหลือเกิน ทรงชมว่า 

"ดีจริง คฤหบดี ดีจริงแล คฤหบดี ท่านฝังขุมทรัพย์ที่แม้เราก็นำไปไม่ได้"

พระราชาได้ทรงทำการบูชาเป็นอย่างมากแก่คฤหบดีผู้นั้นแล

 

 

อ้างอิง : นิธิกัณฑ์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๙ หน้า ๗-๙ และอรรถกถา