14-09 พระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน



ภายในเชตวันวิหาร

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร) บิณฑปาติกธุดงค์ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) และเตจีวริกธุดงค์ (องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร) เดินทางไปพระนครสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ซึ่งอยู่ระหว่างทาง

ในระหว่างจำพรรษา ภิกษุเหล่านั้นมีความคิดว่า

“พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์”

ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้น ออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้ว ขณะนั้นฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน ภิกษุเหล่านั้นมีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางไปถึงพระเชตวันวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พุทธประเพณี

การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ”

“พวกข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า

อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาอย่างผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า

พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้ เป็นภิกษุปาไฐยรัฐ จำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัตถี จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ซึ่งอยู่ระหว่างทาง

ขณะที่พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษา มีความคิดว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ เรา ระยะทางห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค

ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า”

อานิสงส์แก่ผู้ได้กรานกฐิน

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้ว จักได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ

๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณโภชน์ได้ (ฉันอาหารเป็นหมู่ได้)
๔. ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
๕. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจักได้แก่พวกเธอ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่เธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว

วิธีกรานกฐิน

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ

ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้”

กรรมวาจาให้ผ้ากฐิน

'ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินผืนนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน นี้เป็นญัตติ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

ผ้ากฐินผืนนี้ สงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ เพื่อกรานกฐิน ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้'

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ ข้อที่ ๙๕-๙๖ หน้า ๑๐๘-๑๐๙