4-01 กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์



นครราชคฤห์

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระนครเวสาลีเป็นเมืองมั่งคั่ง กว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีหญิงงามเมืองชื่อ อัมพปาลี เป็นสตรีทรงโฉมสคราญตา น่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่มีความประสงค์ต้องการพาตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ พระนครเวสาลีงามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะนางอัมพปาลีหญิงงามเมืองนั้น

ครั้งนั้น พวกคนมีทรัพย์คณะหนึ่งชาวพระนครราชคฤห์ ได้เดินทางไปพระนครเวสาลีด้วยกรณียะบางอย่าง และได้เห็นพระนครเวสาลีมั่งคั่งกว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีหญิงงามเมืองชื่อ อัมพปาลี ...พระนครเวสาลีงามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะนางอัมพปาลีหญิงงามเมืองนั้น

ครั้นพวกเขาเสร็จกรณียะในพระนครเวสาลีแล้ว กลับมาพระนครราชคฤห์ตามเดิม เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ครั้นแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า

“ขอเดชะ พระนครเวสาลี เป็นเมืองที่มั่งคั่ง กว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีนางอัมพปาลีหญิงงามเมืองผู้ทรงโฉมสคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่มีความประสงค์ต้องการพาตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ พระนครเวสาลีงามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะนางอัมพปาลีหญิงงามเมืองนั้น

ขอเดชะฯ แม้ชาวเราจะตั้งหญิงงามเมืองขึ้นบ้าง ก็จะเป็นการดี"

พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งว่า

“พนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงเสาะหากุมารีผู้มีลักษณะงามเช่นนั้น ที่ควรจะคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง”

ก็สมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อ สาลวดี เป็นสตรีทรงโฉมสคราญตา น่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง พวกคนมีทรัพย์ชาวพระนครราชคฤห์ได้คัดเลือกกุมารีสาลวดี เป็นหญิงงามเมือง

ครั้นนางกุมารีสาลวดี ได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนัก ก็ได้เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงเครื่องดนตรี มีคนที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์

ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์ นางจึงมีความคิดในใจว่า

“ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใคร ๆ ทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเราจักเสื่อมหมด ถ้ากระไร เราควรแจ้งให้เขาทราบว่าเป็นไข้”

ต่อมานางได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า

“นายประตูจ๋า โปรดอย่าให้ชายใด ๆ เข้ามา และผู้ใดถามหาดิฉัน จงบอกให้เขาทราบว่า เป็นไข้นะ”

คนเฝ้าประตูนั้น รับคำนางสาลวดีหญิงงามเมืองว่า

“จะปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนั้น”

หลังจากนั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่งกำชับทาสีว่า

“แม่สาวใช้จงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่า ๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ”

นางทาสีนั้นรับคำว่า

“ทำเช่นนั้นได้ เจ้าค่ะ”

ดังนี้แล้ว วางทารกนั้นลงบนกระด้งเก่า ๆ นำออกไปทิ้งไว้ ณ กองหยากเยื่อ

ก็ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัยกำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นทารกนั้น อันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้ว ได้ถามมหาดเล็กว่า

“พนาย นั่นอะไร ฝูงการุมกันตอม”

มหาดเล็กกราบทูลว่า

“ทารก พ่ะย่ะค่ะ”

“ยังเป็นอยู่หรือ พนาย”

“ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ”

“พนาย ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกนั้น ไปที่วังของเรา ให้นางนมเลี้ยงไว้”

“อย่างนั้น พ่ะย่ะค่ะ”

แล้วนำทารกนั้นไปวังเจ้าชายอภัย มอบแก่นางนมว่า

“โปรดเลี้ยงไว้ด้วย”

อาศัยคำว่า 'ยังเป็นอยู่' เขาจึงขนานนามทารกนั้นว่า ชีวก

ชีวกนั้น อันเจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้ เขาจึงได้ตั้งนามสกุลว่า โกมารภัจจ์

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๑๒๘ หน้า ๒๔๑-๒๔๓