4-24 เทพชุมนุมมหาสมัย - ทรงประกาศรายชื่อเทวดา (มหาสมัยสูตร)



ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาในโลกธาตุทั้ง ๑๐ มาประชุมกันมากเพื่อทัศนาตถาคตและภิกษุสงฆ์

พวกเทวดาประมาณเท่านี้แหละได้ประชุมกันเพื่อทัศนาพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งได้มีแล้วในอดีตกาล เหมือนที่ประชุมกันเพื่อทัศนาเราในบัดนี้

พวกเทวดาประมาณเท่านี้แหละ จักประชุมกันเพื่อทัศนาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจักมีในอนาคตกาล เหมือนที่ประชุมกันเพื่อทัศนาเราในบัดนี้

เราจักบอกนามพวกเทวดา เราจักระบุนามพวกเทวดา เราจักแสดงนามพวกเทวดา พวกเธอจงฟังเรื่องนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

"เราจักร้อยกรองโศลก
ภุมมเทวดาอาศัยอยู่ ณ ที่ใด...
...พวกภิกษุก็อาศัยที่นั้น
ภิกษุพวกใดอาศัยซอกเขา ส่งตนไปแล้ว มีจิตตั้งมั่น
ภิกษุพวกนั้นเป็นอันมากเร้นอยู่เหมือนราชสีห์
ครอบงำความขนพองสยองเกล้าเสียได้
มีใจผุดผ่อง เป็นผู้หมดจด ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว"

ภิกษุเหล่านั้นสดับรับสั่งของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กระทำความเพียร ญาณเป็นเครื่องเห็นพวกอมนุษย์ ได้ปรากฏแก่ภิกษุเหล่านั้น

ภิกษุบางพวกได้เห็นอมนุษย์ร้อยหนึ่ง
บางพวกได้เห็นอมนุษย์พันหนึ่ง
บางพวกได้เห็นอมนุษย์เจ็ดหมื่น
บางพวกได้เห็นอมนุษย์หนึ่งแสน
บางพวกได้เห็นไม่มีที่สุด อมนุษย์ได้แผ่ไปทั่วทิศ

พระศาสดาผู้มีพระจักษุ ทรงใคร่ครวญทราบเหตุนั้นสิ้นแล้ว แต่นั้น จึงตรัสเรียกสาวกผู้ยินดีในพระศาสนา ตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่เทวดามุ่งมากันแล้ว พวกเธอจงรู้จักหมู่เทวดานั้น เราจักบอกพวกเธอด้วยวาจา ตามลำดับ"

ทรงประกาศนามเทวดา

หมู่ยักษ์ต่าง ๆ

ยักษ์เจ็ดพันเป็นภุมมเทวดาอาศัยอยู่ในพระนครกบิลพัสดุ์ มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

ยักษ์หกพันอยู่ที่เขาเหมวตา มีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

ยักษ์สามพันอยู่ที่เขาสาตาคีรี มีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

ยักษ์เหล่านั้นรวม เป็นหนึ่งหมื่นหกพัน มีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

ยักษ์ห้าร้อยอยู่ที่เขาเวสสามิตตะ มีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มี อานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

ยักษ์ชื่อกุมภีระอยู่ในพระนครราชคฤห์ เขาเวปุลละ เป็นที่อยู่ของยักษ์นั้น ยักษ์แสนเศษแวดล้อมยักษ์ชื่อกุมภีระนั้น

ยักษ์ชื่อกุมภีระอยู่ในพระนครราชคฤห์ แม้นั้น ก็ได้มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

ท้าวจาตุมาหาราชทั้ง ๔ (เทพจตุโลกบาล) 

ท้าวธตรัฏฐ อยู่ด้านทิศบูรพา ปกครองทิศนั้น เป็นอธิบดีของพวกคนธรรพ์

ท้าววิรุฬหก อยู่ด้านทิศทักษิณ ปกครองทิศนั้นเป็นอธิบดีของพวกกุมภัณฑ์

ท้าววิรูปักษ์ อยู่ด้านทิศปัจจิม ปก ครองทิศนั้นเป็นอธิบดีของพวกนาค

ท้าวกุเวรอยู่ด้านทิศอุดร ปกครองทิศนั้น เป็นอธิบดีของพวกยักษ์

ท้าวทั้ง ๔ เป็นมหาราช มียศ แม้บุตรของท้าวทั้ง ๔ ก็มาก มีนามว่า อินท มีกำลังมาก มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

ท้าวธตรัฏฐ เป็นใหญ่ทิศบูรพา
ท้าววิรุฬหก เป็นใหญ่ทิศทักษิณ
ท้าววิรูปักษ์ เป็นใหญ่ทิศปัจจิม
ท้าวกุเวร เป็นใหญ่ทิศอุดร

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น ยังทิศทั้ง ๔ โดยรอบให้รุ่งเรือง ได้ยืนอยู่แล้วในป่าเขตพระ นครกบิลพัสดุ์

บ่าวของท้าวโลกบาล

พวกบ่าวของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น มีมายา ล่อลวง โอ้อวด เจ้าเล่ห์ มาด้วยกัน มีชื่อคือ

กุเฏณฑุ ๑
เวเฏณฑุ ๑
วิฏ ๑
วิฏฏะ ๑
จันทนะ ๑
กามเสฏฐะ ๑
กินนุฆัณฑุ ๑
นิฆัณฑุ ๑
และท้าวเทวราชทั้งหลายผู้มีนามว่าปนาทะ ๑
โอปมัญญะ ๑
เทพสารถีมีนามว่า มาตลิ ๑
จิตตเสนะ ผู้คนธรรพ์ ๑
นโฬราชะ ๑
ชโนสภะ ๑
ปัญจสิขะ ๑
ติมพรู ๑
สุริยวัจฉสาเทพธิดา ๑

ราชาและคนธรรพ์พวกนั้นและพวกอื่น กับเทวราชทั้งหลายยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

หมู่นาคและครุฑต่าง ๆ (บ่าวของเทพจตุโลกบาล) 

อนึ่ง เหล่านาคที่อยู่ในสระชื่อนภสะบ้าง
อยู่ในเมืองเวสาลีบ้าง
พร้อมด้วยนาคบริษัทเหล่าตัจฉกะก็มา
และอัสสตรนาคก็มา
นาคผู้อยู่ในท่าชื่อ ปายาคะ กับญาติก็มา
นาคผู้อยู่ในแม่น้ำยมุนา
เกิดในสกุลธตรัฏฐ ผู้มียศก็มา
เอราวัณเทพ บุตรผู้เป็นช้างใหญ่ แม้นั้น ก็มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

ปักษีทวิชาติผู้เป็นทิพย์ มีนัยน์ตาบริสุทธิ์ นำนาคราชไปได้ โดยพลันนั้น มาโดยทางอากาศ ถึงท่ามกลางป่า ชื่อของปักษีนั้นว่า จิตรสุบรรณ

ในเวลานั้น นาคราชทั้งหลายไม่ได้มีความกลัว พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำให้ปลอดภัยจากครุฑ

นาคกับครุฑเจรจากันด้วยวาจาอันไพเราะ กระทำพระพุทธเจ้าให้เป็นสรณะ

เหล่าอสูรต่าง ๆ (บ่าวของเทพจตุโลกบาล) 

พวกอสูรอาศัยสมุทรอยู่ อันท้าววชิรหัตถ์รบชนะแล้ว เป็นพี่น้องของท้าววาสพ มีฤทธิ์ มียศเหล่านี้คือ พวกกาลกัญชอสูร มีกายใหญ่น่ากลัวก็มา

พวกทานเวฆสอสูรก็มา เวปจิตติอสูร สุจิตติอสูร ปหาราทอสูร และนมุจีพระยามาร ก็มาด้วยกัน

บุตรของพลิอสูรหนึ่งร้อย มีชื่อว่าไพโรจน์ ทั้งหมดผูกสอดเครื่องเสนาอันมีกำลัง เข้าไปใกล้อสุรินทราหู แล้วกล่าวว่า

"ดูกรท่านผู้เจริญ บัดนี้ เป็นสมัยที่จะประชุมกัน"

ดังนี้แล้ว เข้าไปยังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

เทวนิกาย ๖๐

ในเวลานั้น เทวดาทั้งหลาย

ชื่อ อาโป
ชื่อ ปฐวี
ชื่อ เตโช
ชื่อ วาโย ได้พากันมาแล้ว
เทวดาชื่อ วรุณะ
ชื่อ วารุณะ
ชื่อ โสมะ
ชื่อ ยสสะ ก็มาด้วยกัน
เทวดาผู้บังเกิดในหมู่เทวดาด้วย เมตตา และ กรุณาฌาน เป็นผู้มียศก็มา

หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

เทวดาชื่อ เวณฑู
ชื่อ สหลี
ชื่อ อสมา
ชื่อ ยมะทั้งสองพวก ก็มา
เทวดาผู้อาศัยพระจันทร์ กระทำพระจันทร์ไว้ในเบื้องหน้าก็มา
เทวดาผู้อาศัยพระอาทิตย์ กระทำพระอาทิตย์ไว้ในเบื้องหน้าก็มา
เทวดากระทำนักษัตร ไว้ในเบื้องหน้าก็มา
มันทพลาหกเทวดา ก็มา
แม้ ท้าวสักกปุรินททวาสวะ ซึ่งประเสริฐกว่าสุเทวดาทั้งหลายก็เสด็จมา

หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

อนึ่ง เทวดาชื่อ สหภู ผู้รุ่งเรืองดุจเปลวไฟก็มา
เทวดาชื่อ อริฏฐกะ ชื่อ โรชะ มีรัศมีดังสีดอกผักตบก็มา
เทวดาชื่อ วรุณะ
ชื่อ สหธรรม
ชื่อ อัจจุตะ
ชื่อ อเนชกะ
ชื่อ สุเลยยะ
ชื่อ รุจิระ ก็มา
เทวดาชื่อ วาสวเนสี ก็มา

หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

เทวดาชื่อ สมานะ
ชื่อ มหาสมานะ
ชื่อ มานุสะ
ชื่อ มานุสุตตมะ
ชื่อ ขิฑฑาปทูสิกะ ก็มา
เทวดาชื่อ มโนปทูสิกะก็มา
อนึ่ง เทวดาชื่อ หริ
เทวดาชื่อโลหิตวาสี
ชื่อ ปารคะ
ชื่อ มหาปารคะ ผู้มียศก็มา

หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

เทวดาชื่อ สุกกะ
ชื่อ กรุมหะ
ชื่อ อรุณะ
ชื่อ เวฆนสะ ก็มาด้วยกัน
เทวดาชื่อ โอทาตคัยหะ ผู้เป็นหัวหน้า
เทวดาชื่อ วิจักขณะ ก็มา
เทวดาชื่อ สทามัตตะ
ชื่อ หารคชะ
และชื่อ มิสสกะ ผู้มียศก็มา
ปชุนนเทวบุตร ซึ่งคำรามให้ฝนตกทั่วทิศก็มา

หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

เทวดาชื่อ เขมิยะ
เทวดา ชั้นดุสิต
เทวดา ชั้นยามะ
และเทวดาชื่อ กัฏฐกะ มียศ
เทวดาชื่อ ลัมพิตกะ
ชื่อ ลามเสฏฐะ
ชื่อ โชตินาม
ชื่อ อาสา
และเทวดา ชั้นนิมมานรดีก็มา
อนึ่ง เทวดา ชั้นปรนิมมิตะก็มา

หมู่เทวดา ๑๐ เหล่านี้ เป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มีฤทธิ์ มีอานุภาพ มีรัศมี มียศ ยินดี มุ่งมายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

หมู่เทวดา ๖๐ เหล่านี้ ทั้งหมดล้วนมีรัศมีต่าง ๆ กัน มาแล้วโดยกำหนดชื่อ และเทวดาเหล่าอื่นผู้เช่นกัน มาพร้อมกัน ด้วยคิดว่า

"เราทั้งหลายจักเห็นพระนาค ผู้ปราศจากชาติ ไม่มีกิเลสดุจตะปู มีโอฆะอันข้ามแล้ว ไม่มีอาสวะ ข้ามพ้นโอฆะ ผู้ล่วงความยึดถือได้แล้ว ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น"

เหล่าพรหมต่าง ๆ

สุพรหมและปรมัตตพรหม  ซึ่งเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้มีฤทธิ์ ก็มาด้วย

สนังกุมารพรหมและติสสพรหม แม้นั้น ก็มายังป่าอันเป็นที่ประชุมของภิกษุ

ท้าวมหาพรหม ย่อมปกครองพรหมโลกพันหนึ่ง ท้าวมหาพรหมนั้นบังเกิดแล้วในพรหมโลก มีอานุภาพ มีกายใหญ่โต มียศ ก็มา

พรหม ๑๐ พวก ผู้เป็นอิสระในพวกพรหมพันหนึ่ง มีอำนาจเป็นไปเฉพาะ องค์ละอย่าง ก็มา

มหาพรหมชื่อ หาริตะ  อันบริวารแวดล้อมแล้ว มาในท่ามกลางพรหมเหล่านั้น

มารเสนา ได้เห็นพวกเทวดา พร้อมทั้งพระอินทร์ พระพรหมทั้งหมดมา ก็มาด้วย แล้วกล่าวว่า

"ท่านจงดูความเขลาของมาร"

พระยามารกล่าวว่า

"พวกท่านจงมาจับเทวดาเหล่านี้ผูกไว้ ความผูกด้วยราคะ จงมีแก่ท่านทั้งหลาย

พวกท่านจงล้อมไว้โดยรอบ อย่าปล่อยใคร ๆ ไป"

พระยามารบังคับเสนามารในที่ประชุมนั้นดังนี้แล้ว เอาฝ่ามือตบแผ่นดิน กระทำเสียงน่ากลัวเหมือนเมฆยังฝนให้ตก คำรามอยู่ พร้อมทั้งฟ้าแลบ ฉะนั้น

เวลานั้น พระยามารนั้นไม่อาจยังใครให้เป็นไปในอำนาจได้ โกรธจัด กลับไปแล้ว

พระศาสดาผู้มีพระจักษุ ทรงพิจารณาทราบเหตุนั้นทั้งหมด แต่นั้น จึงตรัสเรียกสาวกผู้ยินดีในพระศาสนาตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารเสนามาแล้ว พวกเธอจงรู้จักเขา"

ภิกษุเหล่านั้นสดับพระดำรัสสอนของพระ พุทธเจ้าแล้ว ได้กระทำความเพียร มารและเสนามารหลีกไปจากภิกษุผู้ปราศจากราคะ ไม่ยังแม้ขนของท่านให้ไหว

พระยามารกล่าวสรรเสริญว่า

"พวกสาวกของพระองค์ทั้งหมดชนะสงครามแล้ว
ล่วงความกลัวได้แล้ว มียศ ปรากฏในหมู่ชน
บันเทิงอยู่กับด้วยพระอริยเจ้า
ผู้เกิดแล้วในพระศาสนา ดังนี้แล"

 

 

ภาพ : สถูปพระบรมสารีริกธาตุ เมืองรามคาม

อ้างอิง : มหาสมัยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๓๕-๒๔๖ หน้า ๑๙๑-๑๙๗ และอรรถกถา