4-25 ทรงจำแนกเทวดาออกเป็น ๖ พวก ตามอำนาจจริต



นิโคราธาราม นครกบิลพัสดุ์

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระญาณไม่มีอะไรมาขัดขวางได้ในทุกหนทุกแห่งอย่างนี้ ทรงได้ทำพวกเทพบริษัททั้งหมดนั้นเป็นสองพวก ด้วยอำนาจภัพพะและอภัพพะ พวกที่เป็นภัพพสัตว์มีประมาณเท่านี้ พวกที่เป็นอภัพพสัตว์มีประมาณเท่านี้

บรรดาบริษัทเหล่านั้น บริษัทที่เป็นอภัพพะแม้เมื่อพระพุทธเจ้าร้อยพระองค์ทรงแสดงธรรม ก็ไม่อาจตรัสรู้ได้ ส่วนบริษัทที่เป็นภัพพะสามารถรู้ได้ เพราะฉะนั้น แม้ในการประชุมของเทพบริษัทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละพวกที่อภัพพะ แล้วรวบรวมเอาแต่พวกภัพพบริษัท เมื่อรวบรวมเสร็จแล้ว ทรงจัดแบ่งภัพพบริษัทออกเป็น ๖ พวก ตามอำนาจจริตว่า พวกราคจริตเท่านี้ พวกโทสจริต โมหจริต วิตักจริต สัทธาจริต พุทธิจริต ประมาณเท่านี้

ต่อมา ก็ทรงใคร่ครวญธรรมเทศนาอันเป็นที่สบายแก่พวกจริตเหล่านั้น ทรงกำหนดเทศนาว่า

พวกเทวดาราคจริต จักแสดง สัมมาปริพพาชนียสูตร (สูตรว่าด้วยเรื่องที่พึงเว้นโดยชอบ)

จักแสดง กลหวิวาทสูตร (สูตรเกี่ยวกับเรื่องทะเลาะวิวาท) แก่พวกโทสจริต

จักแสดง มหาพยูหสูตร (สูตรว่าด้วยพวกใหญ่) แก่พวกโมหจริต

จักแสดง จูฬพยูหสูตร (สูตรว่าด้วยพวกน้อย) แก่พวกวิตกจริต

จักแสดง ตุวัฏฏกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติของนกคุ่ม) แก่พวกสัทธาจริต

จักแสดง ปุราเภทสูตร (สูตรว่าด้วยเรื่องแตกในอนาคต) แก่พวกพุทธิจริต

ครั้นแล้วก็ทรงใส่พระทัยถึงบริษัทนั้นอีกว่า บริษัทพึงรู้ด้วยอัธยาศัยของตน ด้วยอัธยาศัยของคนอื่น ด้วยการเกิดเรื่องขึ้น หรือด้วยอำนาจการถาม แต่นั้น ก็ทรงทราบว่า บริษัทพึงรู้ด้วยอำนาจการถาม

แล้วทรงพระดำริว่า

"จะมีใครหรือไม่หนอ ที่เป็นผู้ถือเอาอัธยาศัยของทวยเทพแล้ว สามารถถามปัญหาด้วยอำนาจจริตได้"

ได้ทรงเห็นว่า ในพวกภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น แม้รูปเดียวก็จะไม่สามารถ จากนั้นทรงรวมเอาพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป และพระสาวกชั้นเลิศ ๒ รูป ก็ทรงเห็นว่า แม้ท่านเหล่านั้นก็ไม่สามารถ ทรงพระรำพึงว่า

"ถ้าพึงมีพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าจะสามารถหรือไม่หนอ"

ทรงทราบว่า ถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็จะไม่สามารถ

ทรงรวมว่า ในบรรดาท้าวสักกะและท้าวสุยามะ เป็นต้น ใคร ๆ จะพึงสามารถ ถ้าในท่านเหล่านั้น ผู้ไร ๆ จะพึงสามารถถามพระองค์ แล้วพระองค์จะพึงตอบ แต่แม้ในท่านเหล่านั้น ใคร ๆ ก็ไม่อาจ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า

"พระพุทธเจ้าอย่างเราเท่านั้นจึงจะพึงอาจ และก็มีพระพุทธเจ้าองค์อื่นในที่ใดบ้างไหม"

แล้วทรงแผ่พระญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดไปในโลกธาตุอันไม่มีที่สิ้นสุด ทรงตรวจดูแล้ว ไม่ได้ทรงเห็นพระพุทธเจ้าองค์อื่น เมื่อไม่ทรงเห็นใครเสมอพระองค์อย่างนี้แล้ว ก็ทรงดำริว่า

"ถ้าเราพึงถามแล้วตอบเองเสียเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ เทวดาเหล่านี้ก็จะไม่อาจแทงตลอดได้ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าองค์อื่นนั่นแลทรงถามและเราตอบ จึงจะเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ และพวกเทวดาก็จะสามารถแทงตลอดได้ด้วย

ฉะนั้น เราจะสร้างพระพุทธนิรมิต"

ทรงเนรมิตพุทธนิมิต

แล้วทรงเข้าฌานที่มีอภิญญาเป็นบาท ครั้นทรงออกแล้ว ก็ทรงบริกรรมด้วยกามาวจรจิตทั้งหลายว่า

"ขอให้การถือบาตรและจีวร การเหลียวหน้าและเหลียวหลัง และการคู้เข้าและเหยียดออกจงเหมือนเราทีเดียว"

แล้วทรงอธิษฐานด้วยรูปาวจรจิต เหมือนทำลายดวงจันทร์ที่กำลังลอยเด่นจากวงในโดยรอบเขายุคนธรทางทิศตะวันออกให้ออกไป ฉะนั้น

ครั้นหมู่เทพได้เห็นพุทธนิรมิตนั้น ก็พูดว่า

"ท่าน พระจันทร์ดวงอื่นขึ้นไปแล้วหรือหนอแล"

เมื่อพระพุทธที่ทรงนิรมิต ละดวงจันทร์แล้วเข้ามาใกล้ ก็พูดว่า

"ไม่ใช่พระจันทร์ แต่เป็นพระอาทิตย์ขึ้นต่างหาก"

เมื่อยิ่งใกล้เข้ามาอีก ก็พูดว่า

"ไม่ใช่พระอาทิตย์ แต่นั่นเป็นวิมานเทวดา"

เมื่อยิ่งใกล้เข้ามาอีก ก็พูดว่า

"ไม่ใช่วิมานเทวดา แต่นั่นเป็นเทพบุตร"

เมื่อยิ่งใกล้เข้ามาอีก ก็พูดว่า

"ไม่ใช่เทพบุตร แต่นั่นเป็นมหาพรหม"

เมื่อยิ่งใกล้เข้ามาอีก ก็พูดว่า

"ไม่ใช่เป็นมหาพรหม แต่เป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งเสด็จมา"

ในที่นั้นพวกเทวดาปุถุชน ก็พากันคิดว่า

"พระพุทธเจ้าองค์เดียว ที่ประชุมเทวดาก็ใหญ่ขนาดนี้แล้ว สองพระองค์จะใหญ่ขนาดไหน"

ส่วนเทวดาอริยะ ก็พากันคิดว่า

"ในโลกธาตุเดียว ไม่มีพระพุทธเจ้าสองพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าองค์อี่นขึ้นมาอีกพระองค์หนึ่งที่เหมือนกับพระองค์เป็นแน่"

ขณะที่หมู่เทพกำลังเห็นพระพุทธนิรมิตนั่นเอง พระพุทธนิรมิตก็เสด็จมาถึง ไม่ทรงไหว้พระทศพลเลย ทำให้เท่า ๆ กันในที่เฉพาะพระพักตร์ แล้วประทับนั่งบนพระที่นั่งที่เนรมิตไว้

มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ แม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ของพระพุทธนิรมิต ก็มี ๓๒ ประการเหมือนกัน

พระรัศมี ๖ สี ออกจากพระสรีระ แม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ของพระพุทธนิรมิตก็เหมือนกัน พระรัศมีจากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้ากระทบพระกายของพระพุทธนิรมิต พระรัศมีจากพระสรีระของพระพุทธนิรมิตก็กระทบพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า

รัศมีเหล่านั้นพุ่งจากพระสรีระของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์ไปจรดชั้นอกนิฏฐพรหม กลับจากนั้นก็ลงในที่สุดของทุกเศียรของเหล่าเทพ แล้วตั้งอยู่ที่ขอบปากจักรวาล ห้องจักรวาลทั้งสิ้นรุ่งเรืองดังเรือนพระเจดีย์ ที่มีไม้จันอันโค้งแล้วด้วยเงิน รึงรัดไว้ ฉะนั้น

 เทวดาในหมื่นจักรวาลรวมเป็นกลุ่มในจักรวาลเดียว เข้าไปตั้งอยู่ระหว่างห้องรัศมีของพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์ เมื่อพระพุทธนิรมิตกำลังประทับนั่งอยู่นั่นแล ชมเชยการละกิเลสที่โพธิบัลลังก์ของพระทศพล จึงตรัสคาถา

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภว่า เพราะผู้ที่ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ จะชื่อว่าเว้นโดยชอบไม่มี ฉะนั้น

เมื่อพระองค์ทรงกำหนดประชุมแห่งภัพพบุคคลด้วยสามารถแห่งจริต มีราคจริต เป็นต้น ในภิกษุนั้น จึงปรารภคำนั้น ๆ ว่าเป็นมงคลแก่ภิกษุใด เพื่อละโทษที่หมู่เทวดาซึ่งมีโทษเสมอกันเหล่านั้น (จริตเดียวกัน) ประพฤติเป็นอาจิณ เมื่อจะทรงประกาศถึงปฏิปทาของพระขีณาสพด้วยยอด คือ พระอรหัต จึงได้ตรัสพระคาถา ๑๕ พระคาถา

 

 

อ้างอิง : อรรถกถา มหาสมัยสูตร