4-26 ทรงแสดงสัมมาปริพพาชนียสูตร แก่เทวดาพวกราคจริต



หัวเสาอโศกหน้ามหามายาเทวีวิหาร

พระพุทธนิมิตตรัสถามด้วยพระคาถาว่า

"เราขอถามมุนีผู้มีปัญญามาก ผู้ข้ามถึงฝั่ง ปรินิพพานแล้ว ดำรงตนมั่น

ภิกษุนั้นบรรเทากามทั้งหลายแล้ว พึงเว้นรอบโดยชอบในโลกอย่างไร"

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

"ภิกษุใดถอนการถือความเกิด ความฝัน
และลักษณะว่าเป็นมงคล ขึ้นได้แล้ว
ภิกษุนั้นละมงคลอันเป็นโทษได้แล้ว
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุพึงนำเสียซึ่งความกำหนัดในกามทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์
ภิกษุนั้นตรัสรู้ธรรมแล้ว ก้าวล่วงภพได้แล้ว
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุกำจัดคำส่อเสียดแล้ว
พึงละความโกรธ ความตระหนี่
ละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุละสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก
...และไม่เป็นที่รักแล้ว ไม่ถือมั่น
อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้วในภพไหน ๆ
หลุดพ้นแล้วจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้วซึ่งความกำหนัด
ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ...
...ในความยึดถือทั้งหลาย
ย่อมไม่เห็นความเป็นสาระในอุปธิทั้งหลาย
ภิกษุนั้นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว
อันใคร ๆ พึงนำไปไม่ได้
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุนั้นไม่ผิดพลาดด้วยวาจา
ใจ และการงานแล้ว
รู้แจ้งแล้วซึ่งธรรมโดยชอบ
ปรารถนาบทคือนิพพานอยู่
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุใดประสบอยู่ ไม่พึงยึดถือว่าเรา
แม้ถูกด่าก็ไม่พึงผูกโกรธ
ได้โภชนะที่ผู้อื่นให้แล้ว...
...ไม่พึงประมาทมัวเมา
ภิกษุนั้นพึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุละความโลภและภพแล้ว
งดเว้นจากการตัดและการจองจำสัตว์อื่น
ข้ามพ้นความสงสัย ไม่มีกิเลสดุจลูกศร
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุรู้แจ้งความปฏิบัติอันสมควรแก่ตน
และรู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริงแล้ว
ไม่พึงเบียดเบียนสัตว์ไร ๆ ในโลก
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุใดไม่มีอนุสัย
ถอนอกุศลมูลอะไร ๆ ขึ้นได้แล้ว
ภิกษุนั้นไม่มีความหวัง ไม่มีตัณหา
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ละมานะได้แล้ว
ก้าวล่วงธรรมชาติอันเป็นทางแห่งราคะได้หมด
ฝึกฝนตน ดับกิเลสได้แล้ว มีจิตตั้งมั่น
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุผู้มีศรัทธาได้สดับแล้ว เห็นมรรค
ไม่แล่นไปด้วยอำนาจทิฐิ ในสัตว์ทั้งหลาย...
...ผู้ไปแล้วด้วยทิฐิ
ภิกษุนั้นเป็นนักปราชญ์
กำจัดเสียซึ่งโลภะ โทสะ และปฏิฆะ
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุชนะกิเลสด้วยอรหัตมรรคอันหมดจดดี
มีกิเลสดุจหลังคาเปิดแล้ว
มีความชำนาญในธรรมทั้งหลาย
ถึงนิพพาน ไม่มีความหวั่นไหว
ฉลาดในญาณอันเป็นที่ดับสังขาร
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุล่วงความกำหนดว่าเรา ว่าของเรา
ในปัญจขันธ์ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต
มีปัญญาบริสุทธิ์ก้าวล่วงทั้ง ๓ กาล
หลุดพ้นแล้วจากอายตนะทั้งปวง
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก

ภิกษุผู้รู้บทแห่งสัจจะทั้งหลาย
ตรัสรู้ธรรม
เห็นการละอาสวะทั้งหลายเป็นวิวัฏฏะ (นิพพาน)
ไม่ข้องอยู่ในภพไหน ๆ...
...เพราะความหมดสิ้นไปแห่งอุปธิทั้งปวง
พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก"

พระพุทธนิมิตตรัสพระคาถาว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้นแน่แท้ทีเดียว ภิกษุใดมีปรกติอยู่อย่างนี้ ฝึกฝนตนแล้ว ล่วงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ทั้งปวง ภิกษุนั้นพึงเว้นรอบโดยชอบในโลก"

ครั้นพระพุทธนิมิตกล่าวคาถาชื่นชมเทศนาแล้ว เทศนาก็จบลงด้วยยอด คือ พระอรหัต ด้วยประการฉะนี้

เมื่อจบพระสูตร เทวดาแสนโกฏิได้บรรลุผลอันเลิศ ส่วนผู้ที่บรรลุพระโสดาปัตติผล สกทาคามิผล และอนาคามิผลนับไม่ถ้วน

 

 

อ้างอิง : สัมมาปริพพาชนิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๓๑ หน้า ๓๐๒-๓๐๓