4-31 ทรงแสดงปุราเภทสูตร แก่เทวดาพวกพุทธจริต



พระคันธกุฎี เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี

พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า

บุคคลผู้มีความเห็นอย่างไร มีศีลอย่างไร บัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นผู้สงบ

ท่านพระโคดม พระองค์ผู้อันข้าพระองค์ถามแล้ว ขอจงตรัสบอกนระผู้สูงสุดแก่ข้าพระองค์เถิด”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

“ผู้ใดปราศจากตัณหาก่อนแต่สรีระแตก
เป็นผู้ไม่อาศัยกาล (อันเป็นอดีต อนาคต)
เบื้องต้น และเบื้องปลาย อันใคร ๆ จะพึงนับว่า
เป็นผู้ยินดีแล้วในท่ามกลาง (กาลปัจจุบัน) ไม่ได้
ความมุ่งหวังของผู้นั้นย่อมไม่มี
เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้สงบ

ผู้ใดไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด ไม่คะนอง
พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ผู้นั้นแลเป็นมุนีผู้สำรวมแล้วด้วยวาจา

ผู้ใดไม่ทะเยอทะยานในสิ่งที่ยังไม่มาถึง
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
เป็นผู้มีปรกติเห็นความสงัดในผัสสะ
อันใคร ๆ จะนำไปในทิฐิทั้งหลายไม่ได้เลย

ผู้ใดปราศจากกิเลส ไม่หลอกลวง
มีปรกติไม่ทะเยอะทะยาน ไม่ตระหนี่ ไม่คะนอง
ไม่เป็นที่เกลียดชัง ไม่ประกอบในคำส่อเสียด
เว้นจากความเชยชมในกามคุณ
...อันเป็นวัตถุน่ายินดี
ทั้งไม่ประกอบในการดูหมิ่น
เป็นผู้ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ ไม่เชื่อต่อใคร ๆ
ไม่กำหนัดยินดี ไม่ศึกษาเพราะใคร่ลาภ
ไม่โกรธเคืองเพราะความไม่มีลาภ
และเป็นผู้ไม่พิโรธ
ไม่ยินดีในรสด้วยตัณหา
เป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
ไม่สำคัญตัวว่าเสมอเขา ว่าวิเศษกว่าเขา
ว่าเลวกว่าเขาในโลก
กิเลสอันฟูขึ้นทั้งหลายของผู้นั้น ย่อมไม่มี

ตัณหานิสสัยและทิฐินิสสัยของผู้ใดไม่มี
ผู้นั้นรู้ธรรมแล้ว
เป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว
ความทะยานอยากเพื่อความมีหรือเพื่อความไม่มี
ของผู้ใดไม่มี เรากล่าวผู้นั้น...
ผู้ไม่มีความห่วงใยในกามทั้งหลายว่า เป็นผู้สงบ

กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายของผู้ใดไม่มี
ผู้นั้นข้ามตัณหาได้แล้ว

บุตร ธิดา สัตว์เลี้ยง ไร่นาและที่ดินของผู้ใดไม่มี
แม้ความเห็นว่าเป็นตัวตนก็ดี
ความเห็นว่าไม่เป็นตัวตนก็ดี
อันใคร ๆ ย่อมไม่ได้ในผู้นั้น

ปุถุชนหรือสมณพราหมณ์จะพึงกล่าวกะผู้นั้น
(ว่าผู้ยินดีแล้วหรือผู้ประทุษร้ายแล้ว)
โดยโทษ มีราคะ เป็นต้นใด โทษ มีราคะ เป็นต้นนั้น
ไม่ใช่เป็นความมุ่งหวังของผู้นั้น
เพราะเหตุนั้น ผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหวเพราะถ้อยคำทั้งหลาย

มุนีผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี
ไม่มีความตระหนี่
ย่อมไม่กล่าวยกย่องบุคคลผู้ประเสริฐกว่า ผู้เสมอกัน หรือผู้เลวกว่า

ผู้ไม่มีกัปปะ (คือตัณหาแลทิฐิ) ย่อมไม่มาสู่กัปปะ
ผู้ใดไม่มีความหวงแหนว่าของตนในโลก
ไม่เศร้าโศกเพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่
และไม่ลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
ผู้นั้นแล เรากล่าวว่าเป็นผู้สงบ”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอด คือ พระอรหัต

เมื่อจบพระสูตรทั้งหลาย เทวดาแสนโกฏิได้บรรลุผลอันเลิศ ส่วนผู้ที่บรรลุพระโสดาปัตติผล สกทาคามิผล และอนาคามิผลนับไม่ถ้วน ด้วยประการฉะนี้

 

 

อ้างอิง : ปุราเภทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๑๗ หน้า ๓๗๒-๓๗๓