5-06 สงครามของเทวดากับอสูร



ภาพถ่ายทางอากาศ สวนเวฬุวัน นครราชคฤห์

ในกาลนั้น พวกอสูรอยู่ในภพดาวดึงส์ อสูรเหล่านั้น คิดว่า

“เทพบุตรใหม่ ๆ เกิดแล้ว”

จึงเตรียมน้ำทิพย์

ท้าวสักกะได้ทรงนัดหมายแก่บริษัทของพระองค์ เพื่อประสงค์มิให้ใคร ๆ ดื่ม 

พวกอสูรดื่มน้ำทิพย์เมาทั่วกันแล้ว ท้าวสักกะทรงดำริว่า

“เราจะต้องการอะไรด้วยความเป็นราชาอันทั่วไปด้วยเจ้าพวกนี้”

ทรงนัดหมายแก่บริษัทของพระองค์แล้ว ให้ช่วยกันจับอสูรเหล่านั้นที่เท้าทั้งสอง ให้เหวี่ยงลงไปในมหาสมุทร

อสูรเหล่านั้นมีศีรษะปักดิ่งตกลงไปในสมุทรแล้ว  ขณะนั้น อสูรวิมานได้เกิดที่พื้นใต้เขาสิเนรุด้วยอานุภาพแห่งบุญของพวกเขา ต้นไม้ชื่อ จิตตปาลิ (ไม้แคฝอย) ก็เกิดแล้ว 

แลเมื่อสงครามระหว่างเทวดาและอสูรประชิดกัน พวกอสูรปราชัย

ผลแห่งการสร้างศาลา

เทพนครในชั้นดาวดึงส์ประมาณหมื่นโยชน์เกิดขึ้นแล้ว และในระหว่างประตูด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกแห่งพระนครนั้น มีเนื้อที่ประมาณหมื่นโยชน์ ระหว่างประตูด้านทิศใต้และทิศเหนือ ก็เท่านั้น

พระนครนั้นประกอบด้วยประตู ๑,๐๐๐ ประดับด้วยอุทยานและสระโบกขรณี ปราสาทนามว่า เวชยันต์ สูง ๗๐๐ โยชน์ สำเร็จแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ ประดับด้วยธงทั้งหลาย สูง ๓๐๐ โยชน์ ผุดขึ้นด้วยผลแห่งศาลาท่ามกลางพระนครนั้น

ที่คันเป็นทองได้มีธงเป็นแก้วมณี ที่คันเป็นแก้วมณี ได้มีธงเป็นทอง ที่คันเป็นแก้วประพาฬ ได้มีธงเป็นแก้วมุกดา ที่คันเป็นแก้วมุกดาได้มีธงเป็นแก้วประพาฬ ที่คันเป็นแก้ว ๗ ประการ ได้มีธงเป็นแก้ว ๗ ประการ ธงที่ตั้งอยู่กลางมีส่วนสูง ๓๐๐ โยชน์ ปราสาทสูง ๑,๐๐๐ โยชน์ ล้วนแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ เกิดแล้วด้วยผลแห่งศาลา ด้วยประการฉะนี้

เทพบุตร ๓๓ องค์ นั่งบนกระพองช้างเอราวัณ

ส่วนช้างเกิดเป็นเทพบุตรชื่อ เอราวัณ

แท้จริง สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายย่อมไม่มีในเทวโลก เพราะฉะนั้น เวลาท้าวสักกะเสด็จออกเพื่อประพาสพระอุทยาน เทพบุตรนั้นจึงจำแลงตัวเป็นช้างชื่อเอราวัณ สูงประมาณ ๑๕๐ โยชน์ ช้างเทพบุตรนั้นนิรมิตกระพอง ๓๓ กระพอง เพื่อประโยชน์แก่ชน ๓๓ คน ในกระพองเหล่านั้น กระพองหนึ่ง ๆ โดยกลมประมาณ ๓ คาวุต โดยยาวประมาณกึ่งโยชน์

ช้างเทพบุตรนั้นนิรมิตกระพองชื่อ สุทัศนะ ประมาณ ๓๐ โยชน์ ในท่ามกลางกระพองทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ท้าวสักกะ

เบื้องบนแห่งกระพองนั้นมีมณฑปแก้วประมาณ ๑๒ โยชน์ ธงขลิบด้วยแก้ว ๗ ประการ สูงโยชน์หนึ่ง ตั้งขึ้นในระหว่าง ๆ (เป็นระยะ ๆ) มณฑปแก้วนั้น ข่ายแห่งกระดิ่งที่ถูกลมอ่อน ๆ พัดแล้ว มีเสียงกังวานปานเสียงทิพย์สังคีต ประสานด้วยเสียงดนตรีอันมีองค์ ๕ ห้อยอยู่ที่ริมโดยรอบ บัลลังก์แก้วมณีประมาณโยชน์หนึ่งเป็นพระแท่นที่เขาจัดไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อท้าวสักกะในท่ามกลางมณฑป ท้าวสักกะย่อมประทับนั่งเหนือบัลลังก์นั้น เทพบุตร ๓๓ องค์ นั่งบนรัตนบัลลังก์ในกระพองของตน

บรรดากระพอง ๓๓ กระพอง ในกระพองหนึ่ง ๆ ช้างเทพบุตรนั้นนิรมิตงา กระพองละ ๗ งา ในงาเหล่านั้น งาหนึ่ง ๆ ยาวประมาณ ๕๐ โยชน์ ในงาหนึ่ง ๆ มีสระโบกขรณี งาละ ๗ สระ ในสระโบกขรณีแต่ละสระ มีกอบัวสระละ ๗ กอ ในกอหนึ่ง ๆ มีดอกบัวกอละ ๗ ดอก ในดอกหนึ่ง ๆ มีกลีบดอกละ ๗ กลีบ ในกลีบหนึ่ง ๆ มีเทพธิดาฟ้อนอยู่ ๗ องค์ มหรสพฟ้อนย่อมบนงาช้างในที่ ๕๐ โยชน์ โดยรอบอย่างนี้แล 

ท้าวสักกเทวราชเสวยยศใหญ่เสด็จเที่ยวไป ด้วยประการฉะนี้

ภริยาของมฆมาณพ ๓ คน ก็เกิดในภพดาวดึงส์

แม้นางสุธรรมาถึงแก่กรรมแล้วก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์นั้นเหมือนกัน เทวสภาชื่อ สุธรรมา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ได้เกิดแล้วแก่นาง ได้ยินว่า ชื่อว่าสถานที่อื่นอันน่าปลื้มใจกว่านั้น ย่อมไม่มี ในวันอัฏฐมี (ดิถีที่ ๘) แห่งเดือน มีการฟังธรรมในที่นั้นจนกระทั่งทุกวันนี้ ชนทั้งหลายเห็นสถานที่อันน่าปลื้มใจแห่งใดแห่งหนึ่งเข้า ก็ยังกล่าวกันอยู่ว่า เหมือนเทวสภาชื่อสุธรรมา

แม้นางสุนันทาถึงแก่กรรมแล้วก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์นั้นเหมือนกัน สระโบกขรณีชื่อ สุนันทา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ เกิดแล้วแก่นาง

แม้นางสุจิตราถึงแก่กรรมแล้วก็ได้ไปเกิดในภพดาวดึงส์นั้นเหมือนกัน สวนชื่อ จิตรลดา มีประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ที่พวกเทพดาพาเหล่าเทพบุตรผู้มีบุรพนิมิตเกิดแล้ว หลงเที่ยวไปอยู่ เกิดแล้วแม้แก่นาง

ท้าวสักกะให้โอวาทนางนกยาง

ส่วนนางสุชาดาถึงแก่กรรมแล้ว เกิดเป็นนางนกยางในซอกเขาแห่งหนึ่ง

ท้าวสักกะทรงตรวจดูบริจาริกาของพระองค์ ทรงทราบว่านางสุธรรมาเกิดแล้วในที่นี้เหมือนกัน นางสุนันทา และนางสุจิตราก็อย่างนั้น

พลางทรงดำริว่า

“นางสุชาดาเกิดที่ไหนหนอ”

เห็นนางเกิดในซอกเขานั้นแล้ว ทรงดำริว่า

“นางสุชาดานี้เขลา ไม่ทำบุญอะไร ๆ บัดนี้เกิดในกำเนิดดิรัจฉาน บัดนี้ ควรที่เราจะให้นางทำบุญ แล้วนำมาไว้เสียที่นี้”

ดังนี้แล้ว จึงทรงจำแลงอัตภาพ เสด็จไปยังสำนักของนางด้วยเพศที่เขาไม่รู้จัก ตรัสถามว่า

“เจ้าเที่ยวทำอะไรอยู่ที่นี้”

นางนกยาง ตอบว่า

“นาย ก็ท่านคือใคร”

“เรา คือ มฆะ สามีของเจ้า”

“ท่านเกิดที่ไหน นาย”

“เราเกิดในดาวดึงส์เทวโลก ก็เจ้ารู้สถานที่เกิดแห่งหญิงสหายของเจ้าแล้วหรือ”

“ยังไม่ทราบ นาย”

“หญิงแม้เหล่านั้นก็เกิดในสำนักของเราเหมือนกัน เจ้าจักเยี่ยมหญิงสหายของเจ้าไหมเล่า”

“หม่อมฉันจักไปในที่นั้นได้อย่างไร"

“เราจักนำเจ้าไปในที่นั้น”

ดังนี้แล้ว นำไปสู่เทวโลก ปล่อยไว้ริมฝั่งสระโบกขรณีที่ชื่อ นันทา ตรัสบอกแก่พระมเหสีทั้งสามว่า

“พวกหล่อนจะดูนางสุชาดาสหายของพวกหล่อนบ้างไหม”

พระมเหสีทั้งสามทูลถามว่า

“นางอยู่ที่ไหนเล่า พระเจ้าข้า”

“อยู่ริมฝั่งโบกขรณีชื่อ นันทา”

พระมเหสีทั้งสามนั้นเสด็จไปในที่นั้น ทำการเยาะเย้ยว่า

“โอ รูปของแม่เจ้า โอ ผลของการแต่งตัว คราวนี้ ท่านทั้งหลายจงดูจงอยปาก ดูแข้ง ดูเท้า ของแม่เจ้า อัตภาพของแม่เจ้าช่างงามแท้”

ดังนี้แล้ว ก็หลีกไป

ท้าวสักกะเสด็จไปสำนักของนางอีก ตรัสถามว่า

“เจ้าพบหญิงสหายแล้วหรือ”

“หม่อมฉันได้พบพระมเหสีทั้งสามนั้นแล้ว เขาพากันเยาะเย้ยหม่อมฉันแล้วก็ไป ขอพระองค์โปรดนำหม่อมฉันไปที่ซอกเขานั้นตามเดิมเถิด”

ดังนี้แล้ว ก็ทรงนำนางนั้นไปที่ซอกเขาตามเดิม ปล่อยไว้ในนั้นแล้ว ตรัสถามว่า

“เจ้าเห็นสมบัติของหญิงทั้งสามนั้นแล้วหรือ”

“หม่อมฉันเห็นแล้ว พระเจ้าข้า”

“แม้เจ้าก็ควรทำอุบายอันเป็นเหตุให้เกิดในที่นั้น”

“จักทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า”

“เจ้าจักรักษาโอวาทที่เราให้ไว้ได้ไหม”

“รักษาได้ พระเจ้าข้า”

ลำดับนั้น ท้าวสักกะก็ประทานศีล ๕ แก่นาง แล้วตรัสว่า

“เจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาท รักษาศีลเถิด”

ดังนี้แล้ว ก็เสด็จหลีกไป 

จำเดิมแต่นั้นมา นางเที่ยวหากินแต่ปลาที่ตายเองเท่านั้น โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน ท้าวสักกะเสด็จไปเพื่อทรงประสงค์จะลองใจนาง จึงทรงจำแลงเป็นปลาตายนอนหงายอยู่หลังหาดทราย นางเห็นปลานั้นแล้ว ได้คาบเอาด้วยสำคัญว่าปลาตาย ในเวลาจะกลืน ปลากระดิกหางแล้ว นางรู้ว่าปลาเป็น จึงปล่อยเสียในน้ำ

ท้าวสักกะทรงปล่อยเวลาให้ล่วงไปหน่อยหนึ่งแล้ว จึงทรงทำเป็นนอนหงายข้างหน้านางอีก นางก็คาบอีกด้วยสำคัญว่าปลาตาย ในเวลาจะกลืน เห็นปลายังกระดิกหางอยู่ จึงปล่อยเสีย ด้วยรู้ว่าปลาเป็น

ท้าวสักกะทรงทดลองอย่างนี้ ๓ ครั้งแล้ว ตรัสว่า

“เจ้ารักษาศีลได้ดี เรามาเพื่อประสงค์จะลองใจเจ้า เมื่อรักษาศีลได้ดีอย่างนั้น ไม่นานเท่าไร ก็จักเกิดในสำนักของเราเป็นแน่ จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด”

ดังนี้แล้ว เสด็จหลีกไป

นางสุชาดาท่องเที่ยวอยู่ในภพต่าง ๆ

จำเดิมแต่นั้นมา นางได้ปลาที่ตายเองไปบ้าง ไม่ได้บ้าง เมื่อไม่ได้ โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน เท่านั้น ก็ซูบผอม ทำกาละแล้ว เกิดเป็นธิดาของช่างหม้อในเมืองพาราณสีด้วยผลแห่งศีลนั้น ต่อมาในเวลาที่นางมีอายุราว ๑๕-๑๖ ปี ท้าวสักกะทรงคำนึงถึงว่า

“นางเกิดที่ไหนหนอ”

ได้เห็นแล้ว ทรงดำริว่า

“บัดนี้ควรที่เราจะไปที่นั้น”

ดังนี้แล้ว จึงทรงเอาแก้ว ๗ ประการ ซึ่งปรากฏโดยพรรณคล้ายฟักทอง บรรทุกยานน้อย ขับเข้าไปในเมืองพาราณสี เสด็จไปยังถนนป่าวร้องว่า

“ท่านทั้งหลาย มาเอาฟักทองกันเถิด”

ผู้คนเอาถั่วเขียวและถั่วราชมาษ เป็นต้น มาแลก พระองค์ตรัสว่า

“ข้าพเจ้าไม่ให้ด้วยราคา”

ผู้คนถามว่า “ท่านจะให้อย่างไร”

“ข้าพเจ้าจะให้แก่สตรีผู้รักษาศีล”

“นาย ชื่อว่าศีลเป็นเช่นไร สีดำหรือสีเขียว”

“พวกท่านไม่รู้จักศีลว่าเป็นเช่นไร จักรักษาศีลนั้นอย่างไรได้เล่า แต่เราจักให้แก่สตรีผู้รักษาศีล”

“นาย ธิดาของช่างหม้อนั้น เที่ยวพูดอยู่ว่า ‘ข้าพเจ้ารักษาศีล’ จงให้แก่สตรีนั้นเถิด”

แม้ธิดาของช่างหม้อนั้นก็ทูลพระองค์ว่า

“ถ้ากระนั้น ก็ให้แก่ฉันเถิด นาย”

“เธอ คือใคร”

“ฉันคือสตรีผู้ไม่ละศีล ๕”

“ฟักทองเหล่านั้น ฉันก็นำมาให้จำเพาะเธอ”

ท้าวสักกะทรงขับยานน้อยไปเรือนของนางแล้ว ประทานทรัพย์ที่เทวดาพึงให้โดยพรรณอย่างฟักทอง ทำมิให้คนพวกอื่นลักเอาไปได้ ให้รู้จักพระองค์แล้ว ตรัสว่า

“นี้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิตของเธอ  เธอจงรักษาศีล ๕ อย่าได้ขาด”

แล้วเสด็จหลีกไป

นางสุชาดาเกิดเป็นธิดาของอสูร

ฝ่ายธิดาของช่างหม้อนั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนของผู้มีเวรต่อท้าวสักกะ เป็นธิดาของอสูรผู้เป็นหัวหน้าในภพอสูร และเพราะความที่นางรักษาศีลดีแล้วใน ๒ อัตภาพ นางจึงได้เป็นผู้มีรูปสวย มีผิวพรรณดุจทองคำ ประกอบด้วยรูปสิริอันไม่สาธารณะ (ทั่วไป)

จอมอสูรนามว่า เวปจิตติ พูดแก่ผู้มาแล้ว ๆ ว่า

“พวกท่านไม่สมควรแก่ธิดาของข้าพเจ้า”

แล้วก็ไม่ให้ธิดานั้นแก่ใคร ๆ คิดว่า

“ธิดาของเราจักเลือกสามีที่สมควรแก่ตนด้วยตนเอง”

ดังนี้แล้ว จึงให้พลเมืองที่เป็นอสูรประชุมกัน แล้วได้ให้พวงดอกไม้ในมือของธิดานั้น สั่งว่า

“เจ้าจงรับผู้สมควรแก่เจ้าเป็นสามี”

ท้าวสักกะปลอมเป็นอสูรชิงนางสุชาดา

ในขณะนั้น ท้าวสักกะทรงตรวจดูสถานที่นางเกิด ทราบประพฤติเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า

"บัดนี้ สมควรที่เราจะไปนำเอานางมา"

ดังนี้แล้ว ได้ทรงนิรมิตเพศเป็นอสูรแก่ ไปยืนอยู่ที่ท้ายบริษัท 

นางอสุรกัญญานเมื่อตรวจดูข้างโน้นและข้างนี้ พอพบท้าวสักกะนั้น ก็เป็นผู้มีหทัยอันความรักซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจปุพเพสันนิวาสท่วมทับแล้วดุจห้วงน้ำใหญ่ ก็ปลงใจว่า  

“นั่น สามีของเรา”

จึงโยนพวงดอกไม้ไปเบื้องบนท้าวสักกะนั้น พวกอสูรนึกละอายว่า

“พระเจ้าอยู่หัวของพวกเราไม่ได้ผู้ที่สมควรแก่พระธิดาตลอดกาลประมาณเท่านี้

บัดนี้ ได้แล้ว ผู้ที่แก่กว่าปู่นี้แลสมควรแก่พระธิดาของท้าวเธอ”

ดังนี้แล้ว จึงหลีกไป 

ฝ่ายท้าวสักกะทรงจับอสุรกัญญานั้นที่มือแล้ว ทรงประกาศว่า

“เราคือท้าวสักกะ” 

แล้วทรงเหาะไปในอากาศ

พวกอสูรรู้ว่าถูกสักกะแก่ลวงเสียแล้ว จึงพากันติดตามท้าวสักกะนั้นไป เทพบุตรผู้เป็นสารถีนามว่า มาตลี นำเวชยันตรถมาพักไว้ในระหว่างทาง ท้าวสักกะทรงอุ้มนางขึ้นในรถนั้นแล้ว บ่ายพระพักตร์สู่เทพนคร เสด็จไปแล้ว

ครั้นในเวลาที่ท้าวสักกะนั้นเสด็จถึงสิมพลิวัน ลูกนกครุฑได้ยินเสียงรถ ตกใจกลัว ร้องแล้ว ท้าวสักกะได้ทรงสดับเสียงลูกนกครุฑเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามมาตลีว่า

“นั่นนกอะไรร้อง”

มาตลีกราบทูลว่า

“ลูกนกครุฑ พระเจ้าข้า”

“เพราะเหตุไร มันจึงร้อง”

“เพราะได้ยินเสียงรถแล้ว กลัวตาย”

“อาศัยเราผู้เดียว นกประมาณเท่านี้ถูกความเร็วของรถให้ย่อยยับไปแล้ว มันอย่าฉิบหายเสียเลย เธอจงกลับรถเสียเถิด”

มาตลีเทพบุตรให้สัญญาแก่ม้าสินธพพันหนึ่งด้วยแส้ กลับรถแล้ว พวกอสูรเห็นกิริยานั้น คิดว่า

“ท้าวสักกะแก่หนีไปตั้งแต่อสุรบุรี บัดนี้ กลับรถแล้ว เธอจักได้ผู้ช่วยเหลือเป็นแน่”

จึงกลับเข้าไปสู่อสุรบุรีตามทางที่มาแล้วนั่นแล ไม่ยกศีรษะขึ้นอีก

ฝ่ายท้าวสักกะทรงนำนางสาวอสูรชื่อ สุชาดา ไปเทพนครแล้ว ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งหัวหน้านางอัปสร ๒ โกฏิกึ่ง นางทูลขอพรกะท้าวสักกะว่า

“ขอเดชะพระมหาราชเจ้า มารดาบิดาหรือพี่ชายพี่หญิงของหม่อมฉันในเทวโลกนี้ ไม่มี  พระองค์จะเสด็จไปในที่ใด ๆ พึงพาหม่อมฉันไปในที่นั้น ๆ ด้วย”

ท้าวสักกะรับคำนาง

พวกอสูรกลัวท้าวสักกะ

ก็จำเดิมแต่นั้นมา เมื่อดอกจิตตปาตลิบาน พวกอสูรประสงค์จะรบกะท้าวสักกะขึ้นมาเพื่อหมายจะต่อยุทธ ด้วยสำคัญว่าเป็นเวลาที่ดอกปาริฉัตตกทิพย์ของพวกเราบาน

ท้าวสักกะได้ประทานอารักขาแก่พวกนาคภายใต้สมุทร ถัดนั้น พวกครุฑ ถัดนั้น พวกกุมภัณฑ์ ถัดนั้น พวกยักษ์ ถัดนั้น ท้าวจตุมหาราช ส่วนชั้นบนกว่าทุก ๆ ชั้น ประดิษฐานรูปจำลองพระอินทร์ซึ่งมีวชิราวุธในพระหัตถ์ไว้ที่ทวารแห่งเทพนคร พวกอสูรแม้ชนะพวกนาค เป็นต้น มาแล้ว เห็นรูปจำลองพระอินทร์มาแต่ไกล ก็ย่อมหนีไป ด้วยเข้าใจว่า ท้าวสักกะเสด็จออกมาแล้ว

อานิสงส์ความไม่ประมาท

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสอดีตนิทานนี้จบแล้ว จึงได้ตรัสต่อไปอีกว่า

“ดูกรมหาลี มฆมาณพปฏิบัติอัปปมาทปฏิปทาอย่างนี้ ก็แล มฆมาณพไม่ประมาทอย่างนี้ จึงถึงความเป็นใหญ่เห็นปานนี้ ทรงเสวยราชย์ในเทวโลกทั้งสอง 

ชื่อว่าความไม่ประมาทนั่น บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น สรรเสริญแล้ว เพราะว่าการบรรลุคุณวิเศษซึ่งเป็นโลกิยะและโลกุตระแม้ทั้งหมดย่อมมีได้ เพราะอาศัยความไม่ประมาท”

ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

“ท้าวมฆวะถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดาทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท ความประมาทอันท่านติเตียนทุกเมื่อ”

ในเวลาจบคาถา เจ้าลิจฉวีพระนามว่า มหาลิ ทรงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

แม้บริษัทผู้ประชุมกันเป็นอันมาก ก็ได้เป็นพระอริยบุคคลมีพระโสดาบัน เป็นต้น

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏ เล่มที่ ๔๐ หน้า ๓๖๗-๓๗๘