5-08 เมณฑกเศรษฐีบรรลุโสดาบัน



ความเป็นอยู่ในอินเดียชนบท

ในพุทธุปบาทกาลนี้ เมณฑกเศรษฐีบังเกิดในสกุลเศรษฐีในภัททิยนคร แม้ภรรยาของเขาก็บังเกิดในสกุลมีโภคะมาก เจริญวัยแล้ว ได้ไปสู่เรือนของท่านเศรษฐี แพะทั้งหลายมีประการดังกล่าวได้ผุดขึ้นแล้วที่ภายหลังเรือนเพราะอาศัยกรรมในกาลก่อนของเศรษฐีนั้น 

ต่อมาวันหนึ่ง ท่านเศรษฐีใคร่จะทดลองบุญของตน จึงให้คนชำระฉาง ๑,๒๕๐ ฉาง สนานศีรษะแล้ว นั่งที่ประตู แหงนดูเบื้องบน ฉางทั้งหมดเต็มแล้วด้วยข้าวสาลีแดงมีประการดังกล่าวแล้ว

เศรษฐีนั้นใคร่จะทดลองบุญแม้ของชนที่เหลือ จึงกล่าวกะภรรยาและบุตรว่า

“เธอทั้งหลายจงทดลองบุญของพวกเธอเถิด”

ลำดับนั้น ภรรยาของเศรษฐีผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เมื่อมหาชนกำลังแลดูอยู่ ได้ใช้ให้คนตวงข้าวสาร ให้หุงข้าวสวยด้วยข้าวสารเหล่านั้น นั่งบนอาสนะอันเขาปูลาดแล้วที่ซุ้มประตู ถือทัพพีทองคำ แล้วให้ป่าวร้องว่า

“ผู้มีความต้องการภัตจงมา”

แล้วได้ให้ข้าวแก่ชนผู้มาแล้วจนเต็มภาชนะ นางให้อยู่จนหมดวัน ก็ปรากฏเฉพาะตรงที่ตักด้วยทัพพีเท่านั้น

ก็ปทุมลักษณะเกิดเต็มฝ่ามือข้างซ้าย จันทรลักษณะเกิดเต็มฝ่ามือข้างขวา เพราะนางจับหม้อข้าวด้วยมือซ้าย จับทัพพีด้วยมือขวา แล้วถวายภัตจนเต็มบาตรของภิกษุสงฆ์ แม้ของพระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้

เพราะเหตุที่นางถือเอากระบอกกรองน้ำถวายแก่ภิกษุสงฆ์ เที่ยวไป ๆ มา ๆ ฉะนั้น จันทรลักษณะจึงเกิดเต็มฝ่าเท้าเบื้องขวาของนาง ปทุมลักษณะจึงเกิดจนเต็มฝ่าเท้าเบื้องซ้ายของนางนั้น เพราะเหตุนี้ ญาติทั้งหลายจึงขนานนามของนางว่า จันทปทุมา

แม้บุตรของเศรษฐีนั้นสนานศีรษะแล้ว ถือเอาถุงเงินพันหนึ่ง กล่าวว่า

“ผู้มีความต้องการกหาปนะทั้งหลาย จงมา”

แล้วได้ให้เงินแก่ชนผู้มาแล้ว จนเต็มภาชนะ เงินพันหนึ่งก็คงมีอยู่ในถุงนั้น

แม้ลูกสะใภ้ของเศรษฐีนั้นประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ถือเอากระบุงข้าวเปลือก นั่งที่กลางแจ้ง กล่าวว่า

“ผู้ที่ต้องการด้วยภัตอันเป็นพืช จงมา”

แล้วได้ให้ภัตแก่ชนผู้มาแล้วจนเต็มภาชนะ กระบุงข้าวเปลือกก็ยังคงเต็มอยู่ตามเดิมนั่นเอง

แม้ทาสของเศรษฐีนั้นประดับแล้วด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เทียมโคทั้งหลายที่แอกทองคำด้วยเชือกทองคำ ถือเอาด้ามปฏักทองคำ ให้ของหอมอันบุคคลพึงเจิมด้วยนิ้วทั้ง ๕ แก่โคทั้งหลาย สวมปลอกทองคำที่เขาทั้งหลาย ไปสู่นา แล้วขับไป รอย ๗ รอยคือ ข้างนี้ ๓ รอย ข้างโน้น ๓ รอย ตรงกลาง ๑ รอย ได้ปรากฏ

ชาวชมพูทวีปทั้งหลายถือเอาสิ่งของบรรดาภัต พืช เงิน ตามที่ตนชอบใจจากเรือนของเศรษฐีเท่านั้น

พระศาสดาทรงโปรดเมณฑกเศรษฐี

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกทางพระนครภัททิยะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป เสด็จจาริกโดยลำดับ ได้เสด็จถึงพระนครภัททิยะ

พระศาสดาเมื่อเสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตตราปถชนบททั้งหลาย ทรงเห็นอุปนิสัยโสดาปัตติผลของคนเหล่านี้ คือ เมณฑกเศรษฐี ๑ ภรรยาของเศรษฐีชื่อว่านางจันทปทุมา ๑ บุตรชื่อธนัญชัยเศรษฐี ๑ หญิงสะใภ้ชื่อนางสุมนเทวี ๑ หลานสาวชื่อวิสาขา ๑ ทาสชื่อปุณณะ ๑ จึงเสด็จไปสู่ภัททิยนคร ประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน เขตพระนครภัททิยะนั้น

เมณฑกะคหบดีได้สดับข่าวถนัดว่า พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล เสด็จโดยลำดับถึงพระนครภัททิยะ ประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน เขตพระนครภัททิยะ ก็พระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า

แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของทวยเทพและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ ทวยเทพและมนุษย์ให้รู้

ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์

อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้น เป็นความดี

หลังจากนั้น เมณฑกะคหบดีให้จัดแจงยวดยานที่งาม ๆ แล้วขึ้นสู่ยวดยานที่งาม ๆ มียวดยานที่งาม ๆ หลายคัน พร้อมด้วยเด็กหญิงวิสาขา หลานสาว ผู้เป็นธิดาธนัญชัยคหบดี ผู้เป็นบุตร แล่นออกจากพระนครภัททิยะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ระหว่างทาง พวกเดียรถีย์เป็นอันมากได้เห็นเมณฑกะคหบดีกำลังมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ทักถามเมณฑกะคหบดีว่า

“ท่านคหบดี ท่านจะไปที่ไหน”

เมณฑกะคหบดี ตอบว่า

“ข้าพเจ้าจะไปเฝ้าพระสมณะโคดม เจ้าข้า”

พวกเดียรถีย์เหล่านั้นห้ามว่า

“ท่านคหบดี ก็ท่านเป็นกิริยวาท จะไปเฝ้าพระสมณะโคดมผู้เป็นอกิริยวาททำไม เพราะพระสมณะโคดมเป็นอกิริยวาท แสดงธรรมเพื่อความไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น”

ลำดับนั้น เมณฑกะคหบดีคิดว่า

“พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ ไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น เดียรถีย์พวกนี้จึงพากันริษยา”

แล้วไปด้วยยวดยานตลอดทางที่ยวดยานจะไปได้ ลงจากยวดยานแล้ว เดินเข้าไปในพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เมณฑกเศรษฐีบรรลุโสดาบัน

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสอนุปุพพิกถาแก่เศรษฐีนั้น คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง ของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม ขณะเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ท่านเมณฑกคหบดีมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่ท่านเมณฑกะคหบดี ณ สถานที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมด้วยดี

ครั้นเมณฑกคหบดีและเด็กหญิงวิสาขาเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้องอาจ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

“ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่งประทีปในที่มืด ด้วยประสงค์ว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น

ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

แล้วกราบทูลความที่ตนถูกพวกเดียรถีย์กล่าวโทษแล้วห้ามไว้แด่พระศาสดา

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะท่านเศรษฐีนั้นว่า

“คฤหบดี ขึ้นชื่อว่าสัตว์เหล่านี้ย่อมไม่เห็นโทษของตนแม้มาก ย่อมโปรยโทษของชนเหล่าอื่นแม้ไม่มีอยู่ กระทำให้มีราวกะบุคคลโปรยแกลบลงในที่นั้น ๆ ฉะนั้น”

ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

"โทษของบุคคลเหล่าอื่นเห็นได้ง่าย
ฝ่ายโทษของตนเห็นได้ยาก
เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษ
ของบุคคลเหล่าอื่น เหมือนบุคคลโปรยแกลบ
แต่ว่าย่อมปกปิดโทษของตน
เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยเครื่องปกปิด ฉะนั้น"

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล

 

 

อ้างอิง : เมณฑกเศรษฐี พระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๓ หน้า ๔๗-๕๙
                เมณฑกคหบดี พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ ข้อที่ ๘๓-๘๕ หน้า ๘๘-๙๖