5-07 บุพกรรมของเมณฑกเศรษฐี



ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี เมณฑกเศรษฐีเป็นหลานของกุฎุมพีชื่ออวโรชะ ได้มีชื่อว่าอวโรชะ ซึ่งมีชื่อพ้องกับลุง

ครั้งนั้น ลุงของเขาปรารภเพื่อจะสร้างพระคันธกุฎีเพื่อพระศาสดา เขาไปสู่เรือนของลุงแล้วกล่าวว่า

“ลุง เราทั้งสองควรสร้างพระคันธกุฎีร่วมกัน”

ลุงนั้นห้ามว่า

“เราคนเดียวเท่านั้นจักสร้าง ไม่ให้สาธารณะกับชนเหล่าอื่น”

เขาคิดว่า

“เมื่อลุงสร้างคันธกุฎีในที่นี้แล้ว เราควรได้ศาลารายในที่นี้”

เขาจึงให้คนนำเครื่องไม้มาจากป่า ให้ทำเสาอย่างนี้ คือ เสาต้นหนึ่งบุด้วยทองคำ ต้นหนึ่งบุด้วยเงิน ต้นหนึ่งบุด้วยแก้วมณี ให้ทำขื่อ พรึง บานประตู บานหน้าต่าง กลอน เครื่องมุง และอิฐ แม้ทั้งหมดบุด้วยวัตถุมีทองคำ เป็นต้นเทียว ให้ทำศาลารายสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการ แด่พระตถาคตในที่ตรงหน้าพระคันธกุฎี ในเบื้องบนแห่งศาลารายนั้นได้มีจอมยอด ๓ ยอด อันสำเร็จแล้วด้วยทองคำอันสุก เป็นแท่งแก้วผลึกและแก้วประพาฬ ให้สร้างมณฑปประดับด้วยแก้ว ให้ตั้งธรรมาสน์ไว้ในที่ท่ามกลางแห่งศาลาราย เท้าธรรมาสน์นั้นทำด้วยทองคำสีสุกเป็นแท่ง แม้อาสนะ ๔ อันก็เหมือนกัน แต่ให้ทำแพะทองคำ ๔ ตัว ตั้งไว้ใต้เท้าทั้ง ๔ ของอาสนะ ให้ทำแพะทองคำ ๒ ตัว ตั้งไว้ภายใต้ตั่งสำหรับรองเท้า ให้ทำแพะทองคำ ๖ ตัว ตั้งแวดล้อมมณฑป ให้ถักธรรมาสน์ด้วยเชือกเส้นเล็กสำเร็จด้วยด้ายก่อน แล้วจึงให้ถักด้วยเชือกอันสำเร็จด้วยทองคำในท่ามกลาง แล้วให้ถักด้วยเชือกสำเร็จด้วยแก้วมุกดาในเบื้องบน พนักแห่งธรรมาสน์นั้นสำเร็จด้วยไม้จันทน์

ครั้นให้ศาลารายสำเร็จอย่างนี้แล้ว เมื่อจะกระทำการฉลองศาลา จึงนิมนต์พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสน ได้ถวายทานตลอด ๔ เดือน ในวันสุดท้ายได้ถวายไตรจีวร บรรดาภิกษุเหล่านั้น จีวรมีค่าพันหนึ่ง ถึงแก่ภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์แล้ว

เขาทำบุญกรรมในกาลแห่งพระวิปัสสีพุทธเจ้าอย่างนั้นแล้ว เคลื่อนจากอัตภาพนั้น ท่องเที่ยวไปในเทวดาและในมนุษย์ทั้งหลาย ในภัทรกัปนี้ เกิดในสกุลเศรษฐีมีโภคะมากในกรุงพาราณสี ได้มีนามว่า พาราณสีเศรษฐี

คหบดีประสบฉาตกภัย

วันหนึ่ง เศรษฐีไปสู่ราชสำนัก พบปุโรหิต จึงถามว่า

“ท่านอาจารย์ ท่านตรวจดูฤกษ์ยามหรือยัง”

ปุโรหิตตอบว่า

“ขอรับ ผมตรวจดูแล้ว”

“ความเป็นไปในชนบทจักเป็นเช่นไร”

“ภัยอย่างหนึ่งจักมี”

“ภัยอะไร”

“ฉาตกภัย คือ ความอดอยาก”

“จักมีเมื่อไร”

“จักมีในอีก ๓ ปี ข้างหน้า”

เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว ให้บุคคลทำกสิกรรมเป็นอันมาก รับซื้อจำเพาะข้าวเปลือกด้วยทรัพย์ที่มีอยู่ในเรือน ให้กระทำฉาง ๑,๒๕๐ ฉาง บรรจุฉางทั้งหมดให้เต็มด้วยข้าวเปลือก เมื่อฉางไม่พอ ก็บรรจุในตุ่มให้เต็ม แล้วขุดหลุมฝังข้าวเปลือกที่เหลือไว้ ให้ขยำข้าวเปลือกที่เหลือกับดิน ฉาบทาฝาเรือนไว้

เมื่อภัยคือความอดอยากมาถึง เขาก็บริโภคข้าวเปลือกที่เก็บไว้ เมื่อข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในฉางและในตุ่มหมดแล้ว จึงให้เรียกบริวารมา แล้วกล่าวว่า

“พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงไป จงเข้าไปสู่ภูเขาแล้วอยู่ที่นั้นเถิด ถ้าประสงค์จะกลับมา ก็จงมาในเวลาที่มีอาหารหาได้ง่าย ถ้าไม่อยากจะมา ก็จงอยู่ที่นั่นเถิด”

ชนเหล่านั้นได้กระทำอย่างนั้น

มีเพียงทาสผู้รับใช้คนหนึ่ง ชื่อว่าปุณณะ ที่ไม่ได้ไป ในเรือนนั้นจึงมีคน ๕ คนเท่านั้นคือ เศรษฐี ภรรยาของเศรษฐี บุตรของเศรษฐี บุตรสะใภ้ของเศรษฐี และนายปุณณะ

เมื่อข้าวเปลือกที่ฝังไว้ในหลุมหมดแล้ว พวกเขาก็พังดินที่ฉาบไว้ที่ฝาเรือน แช่น้ำ ยังอัตภาพให้เป็นไป

ต่อมา ข้าวเปลือกเหลือเพียง ๒ ทะนาน ภรรยาของเศรษฐีตำข้าวแล้วเอาข้าวสารทะนานหนึ่งใส่ไว้ในหม้อ ปิดแล้วฝังดินไว้

ลำดับนั้น เศรษฐีกลับมาจากที่ราชสำนัก กล่าวกะนางว่า

“นางผู้เจริญ ฉันหิว อะไร ๆ มีไหม”

นางกล่าวว่า

“นาย มีข้าวสารอยู่ทะนานหนึ่ง”

“ข้าวสารทะนานหนึ่งนั้น อยู่ที่ไหน”

“ฉันฝังดินไว้เพราะกลัวโจร”

“ถ้ากระนั้น หล่อนจงขุดมันขึ้นมา แล้วหุงต้มเถิด”

“ถ้าเราจักต้มข้าวต้ม ก็จักเพียงพอกัน ๒ มื้อ ถ้าเราจักหุงข้าวสวย ก็จักเพียงพอเพียงมื้อเดียวเท่านั้น ฉันจักหุงต้มอะไรล่ะ”

“ปัจจัยอย่างอื่นของพวกเราไม่มี ต่อให้พวกเราบริโภคข้าวสวยแล้ว ก็จักตาย หล่อนจงหุงข้าวสวยนั่นแหละ”

ภรรยาเศรษฐีหุงข้าวสวย แบ่งให้เป็น ๕ ส่วน คดข้าวสวยส่วนหนึ่งวางไว้ข้างหน้าของเศรษฐี

คหบดีถวายภัตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า

ในขณะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งที่ภูเขาคันธมาทน์ ออกจากสมาบัติ ในภายในสมาบัติ ความหิวย่อมไม่เบียดเบียนเพราะผลแห่งสมาบัติ แต่ว่าเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายออกจากสมาบัติแล้ว ความหิวมีกำลังย่อมเกิดขึ้น เป็นราวกะว่าเผาพื้นท้องอยู่ เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นตรวจดูฐานะที่จะได้อาหารแล้ว จึงไป ในวันนั้น ชนใดถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ย่อมได้สมบัติ บรรดาสมบัติมีตำแหน่งเสนาบดีเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นตรวจดูอยู่ด้วยทิพยจักษุ ดำริว่า

“ฉาตกภัยเกิดขึ้นแล้วทั่วชมพูทวีป และในเรือนเศรษฐี เขาหุงข้าวสุกจากข้าวสารทะนานหนึ่งเพื่อคน ๕ คน ชนเหล่านั้นจักมีศรัทธา หรืออาจจะทำการสงเคราะห์แก่เราหรือหนอแล”

เมื่อเห็นความที่ชนเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา ทั้งสามารถจะทำการสงเคราะห์ จึงถือเอาบาตรจีวร ไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเศรษฐี

เศรษฐีนั้นพอเห็นท่านเข้าก็มีจิตเลื่อมใส คิดว่า

“เราประสบฉาตกภัยเห็นปานนี้เพราะความที่เราไม่ให้ทานในกาลก่อน
ภัตนี้พึงรักษาเราไว้สิ้นวันเดียวเท่านั้น ส่วนภัตที่เราถวายแล้วแก่พระผู้เป็นเจ้า จักนำประโยชน์เกื้อกูลมาแก่เราหลายโกฏิกัป”

เขานำถาดแห่งภัตนั้นออกมา เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นิมนต์ให้เข้าไปสู่เรือน เมื่อท่านนั่งบนอาสนะแล้ว จึงล้างเท้าของท่าน วางถาดภัตไว้บนตั่งทอง แล้วถือเอาถาดภัตนั้นมา ตักลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อภัตเหลือกึ่งหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเอามือปิดบาตรเสีย เศรษฐีได้กล่าวกะพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นี้เป็นส่วนหนึ่งของข้าวสุกที่หุงไว้เพื่อคน ๕ คน กระผมไม่อาจจะแบ่งภัตนี้ให้เป็น ๒ ส่วน ขอท่านจงอย่ากระทำการสงเคราะห์แก่กระผมในโลกนี้เลย กระผมใคร่จะถวายทั้งหมด”

แล้วได้ถวายภัตทั้งหมด

ปรารถนาให้ได้อยู่ร่วมกัน

ครั้นถวายแล้ว ได้ตั้งความปรารถนาว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าอย่าได้ประสบฉาตกภัยอย่างนี้ในที่ที่ข้าพเจ้าเกิดอีกเลย ตั้งแต่บัดนี้ไป ข้าพเจ้าพึงสามารถจะให้ภัตอันเป็นพืชแก่ชาวชมพูทวีปทั้งหลาย ไม่พึงทำการงานเลี้ยงชีพด้วยมือของตนเอง ในขณะที่ข้าพเจ้าใช้ให้คนชำระฉาง ๑,๒๕๐ ฉาง สนานศีรษะ แล้วนั่งอยู่ที่ประตูแห่งฉางเหล่านั้น แลดูเบื้องบนเท่านั้น ธารแห่งข้าวสาลีแดงพึงตกลงมายังฉางทั้งหมดให้เต็มเพื่อข้าพเจ้า และผู้นี้นั่นแหละจงเป็นภรรยา ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นบุตร ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นหญิงสะใภ้ ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นทาสของข้าพเจ้าในสถานที่ข้าพเจ้าเกิดแล้ว ๆ”

ฝ่ายภรรยาของเศรษฐีนั้น ก็คิดว่า

“เมื่อสามีของเราถูกความหิวเบียดเบียนอยู่ เราก็ไม่อาจจะบริโภคได้”

นางจึงถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ จำเดิมแต่นี้ ดิฉันไม่พึงประสบฉาตกภัยอย่างนี้ในสถานที่ดิฉันเกิด อนึ่ง แม้เมื่อดิฉันวางถาดภัตไว้ข้างหน้า แล้วให้ภัตนั้นแก่ชาวชมพูทวีปทั้งหลาย เมื่อดิฉันยังไม่ลุกขึ้นเพียงใด ที่แห่งภัตที่ดิฉันตักแล้ว ๆ จงเป็นของบริบูรณ์อยู่อย่างเดิมเพียงนั้น ท่านผู้นี้แหละจงเป็นสามี ผู้นี้แหละจงเป็นบุตร ผู้นี้แหละจงเป็นหญิงสะใภ้ ผู้นี้แหละจงเป็นทาสของดิฉัน”

แม้บุตรของเศรษฐีนั้นก็ถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาว่า

“จำเดิมแต่นี้ไป ข้าพเจ้าไม่พึงประสบฉาตกภัยอย่างนี้ อนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าถือเอาถุงเงินหนึ่งพัน แม้กำลังให้เงินแก่ชาวชมพูทวีปทั้งหลายอยู่ ถุงนี้จงเต็มอยู่อย่างเดิม ท่านทั้งสองนี้นั่นแหละจงเป็นมารดาบิดา หญิงคนนี้จงเป็นภรรยา ผู้นี้จงเป็นทาสของข้าพเจ้า”

แม้ลูกสะใภ้ของเศรษฐีนั้นถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วก็ตั้งความปรารถนาว่า

“จำเดิมแต่นี้ไป ดิฉันไม่พึงพบเห็นฉาตกภัยอย่างนี้ อนึ่ง เมื่อดิฉันตั้งกระบุงข้าวเปลือกกระบุงหนึ่งไว้ข้างหน้า แม้ดิฉันให้ภัตอันเป็นพืชแก่ชาวชมพูทวีปทั้งหลาย ความหมดสิ้นไปอย่าปรากฏ ท่านทั้งสองนี้นั่นแหละจงเป็นแม่ผัวและพ่อผัว ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นสามี ผู้นี้นั่นแหละจงเป็นทาสของดิฉัน”

แม้ทาสของเศรษฐีนั้นก็ถวายส่วนของตนแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วก็ตั้งความปรารถนาว่า

“จำเดิมแต่นี้ไป ข้าพเจ้าไม่พึงพบเห็นฉาตกภัยอย่างนี้ อนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าไถนาอยู่ รอย ๗ รอยประมาณเท่าเรือโกลน คือ ข้างนี้ ๓ รอย ข้างโน้น ๓ รอย ในตรงกลาง ๑ รอย จงเป็นไป คนเหล่านี้นั่นแหละ จงเป็นนายของข้าพเจ้า”

เมื่อชนทั้งหมดตั้งความปรารถนาเสร็จ พระปัจเจกพุทธเจ้าได้กล่าวว่า

“จงเป็นอย่างนั้นเถิด”

แล้วกระทำอนุโมทนาด้วยคาถาของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วคิดว่า

“เรายังจิตของชนทั้งหลายเหล่านี้ให้เลื่อมใส ย่อมควร”

จึงอธิษฐานว่า

“ขอชนเหล่านี้จงเห็นเราจนถึงภูเขาคันธมาทน์”

ดังนี้แล้วก็หลีกไป ชนเหล่านี้ก็ได้ยืนดูอยู่

พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไปแล้ว แบ่งภัตนั้นกับด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ด้วยอานุภาพแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ภัตนั้นเพียงพอแล้วแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด ชนเหล่านั้นก็ได้ยืนแลดูอยู่ทีเดียว

อานิสงส์ของการถวายภัตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า

ก็เมื่อเวลาเที่ยงล่วงไปแล้ว ภรรยาเศรษฐีล้างหม้อข้าวแล้วปิดตั้งไว้

ฝ่ายเศรษฐีถูกความหิวบีบคั้น นอนแล้วหลับไป เศรษฐีนั้นตื่นขึ้นในเวลาเย็น กล่าวกะภรรยาว่า

“นางผู้เจริญ ฉันหิวเหลือเกิน ข้าวตังก้นหม้อมีอยู่บ้างไหมหนอ”

ภรรยานั้น แม้ทราบความที่ตนล้างหม้อแล้ว ก็ไม่กล่าวว่า ไม่มี คิดว่า

“เราเปิดหม้อข้าวแล้วจึงจะบอก”

ดังนี้แล้ว จึงลุกขึ้นไปสู่ที่ใกล้หม้อข้าว แล้วเปิดหม้อข้าว ในขณะนั้นเอง หม้อข้าวเต็มด้วยข้าว มีสีเช่นกับดอกมะลิตูม ได้ดุนฝาละมีอยู่ นางเห็นภัตนั้นแล้ว เกิดปีติทั่วสรีระ นางกล่าวกะเศรษฐีว่า

“จงลุกขึ้นเถิดนาย ดิฉันล้างหม้อข้าวแล้วปิดไว้ แต่หม้อข้าวนั้นเต็มด้วยข้าว มีสีเช่นกับด้วยดอกมะลิตูม ชื่อว่าบุญทั้งหลายควรที่จะกระทำ ชื่อว่าทานควรจะให้ ขอท่านจงลุกขึ้นเถิด นาย บริโภคเสียเถิด”

ภรรยานั้นได้ให้ข้าวแก่สามีและบุตร เมื่อสามีและบุตรบริโภคเสร็จแล้ว นางนั่งบริโภคกับลูกสะใภ้ แล้วได้ให้แก่นายปุณณะ ที่แห่งภัตอันชนเหล่านั้นตักแล้ว ๆ ย่อมไม่สิ้นไป ปรากฏเฉพาะตรงที่ตักด้วยทัพพีคราวเดียวเท่านั้น

ในวันนั้นนั่นแล ฉางก็กลับเต็มเหมือนก่อน นางได้ประกาศไปในเมืองว่า

“ภัตเกิดขึ้นแล้วในเรือนของเศรษฐี ผู้มีความต้องการภัต จงมารับเอา”

ชนทั้งหลายได้ถือเอาภัตจากเรือนของเศรษฐีนั้นแล้ว แม้ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นก็อาศัยเศรษฐีนั้น เลี้ยงชีวิต ดังนี้แล

เศรษฐีนั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

 

 

อ้างอิง : เมณฑกเศรษฐี พระไตรปิฎกและอรรถกถา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๓ หน้า ๔๗-๕๙