46-13 พระยสกากัณฑกบุตรชี้แจงธรรมวินัยเกี่ยวด้วยการรับทองและเงินแก่ชาวเวสาลี



 ภูมิทัศน์เมืองเวสาลี

ต่อมา ท่านพระยสกากัณฑกบุตรพร้อมด้วยพระอนุทูตพากันเข้าไปสู่พระนครเวสาลี แล้วชี้แจงแก่อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีว่า "อาตมาผู้กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัย ว่าเป็นวินัย เขาหาว่าด่า บริภาษท่านอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส"

 พระยสกากัณฑกบุตรกล่าวต่อไปว่า

"ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

เครื่องเศร้าหมองของพระจันทร์พระอาทิตย์ ๔ อย่าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระจันทร์พระอาทิตย์เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้ จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง

เครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการเป็นไฉน

๑. เครื่องเศร้าหมอง คือ หมอก
๒. เครื่องเศร้าหมอง คือ น้ำค้าง
๓. เครื่องเศร้าหมอง คือ ละอองควัน
๔. คือ อสุรินทราหู

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้แล จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ฉันใด สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้ จึงไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

เครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ ๔ อย่าง

เครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการ เป็นไฉน

๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดื่มสุรา ดื่มเมรัย ไม่งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเสพเมถุนธรรม ไม่งดเว้นจากเมถุนธรรม นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่สอง ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งยินดีทองและเงิน ไม่งดเว้นจากการรับทองและเงิน นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่สาม ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

๔. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ ไม่งดเว้นจาก มิจฉาชีพ นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่สี่ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้า หมอง ๔ ประการนี้แล จึงไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ ฉันนั้น

ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้ ครั้นแล้วพระสุคตผู้ศาสดาได้ตรัสประพันธ์คาถา มีเนื้อความว่าดังนี้

สมณพราหมณ์เศร้าหมองเพราะราคะและโทสะ เป็นคนอันอวิชชาหุ้มห่อ เพลิดเพลินรูปที่น่ารัก เป็นคนไม่รู้

พวกหนึ่งดื่มสุราเมรัย
พวกหนึ่งเสพเมถุน
พวกหนึ่งยินดีเงินและทอง
พวกหนึ่งเป็นอยู่โดยมิจฉาชีพ

เครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสว่า เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่บริสุทธิ์ มีกิเลสธุลีดุจมฤค ถูกความมืดรัดรึง เป็นทาสตัณหา พร้อมด้วยกิเลส เครื่องนำไปสู่ภพ ย่อมเพิ่มพูนสถานทิ้งซากศพให้มาก ย่อมถือเอาภพใหม่ต่อไป

ข้าพเจ้าผู้มีวาทะอย่างนี้กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัย ว่าเป็นวินัย เขาหาว่าด่า บริภาษ อุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส"

สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน

"ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชบริษัทภายในราชสำนัก ได้ยกถ้อยคำนี้ขึ้นสนทนาในระหว่างว่า

ทองและเงินย่อมควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมรับทองและเงิน

ก็คราวนั้น นายบ้านชื่อมณีจูฬกะนั่งอยู่ในบริษัทนั้นด้วย เขาได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า

"นาย พวกท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ทองและเงินไม่ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน"

นายบ้านชื่อมณีจูฬกะสามารถชี้แจงให้บริษัทนั้นเข้าใจ ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลเล่าเหตุการณ์แก่พระผู้มีพระภาค ทูลถามว่า

"เมื่อข้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามพระผู้มีพระภาค ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมอันสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูปผู้กล่าวตามวาทะ ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนหรือ พระพุทธเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"เอาละ นายบ้าน เธอพยากรณ์อย่างนี้ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามเรา ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ชื่อว่า พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูปผู้กล่าวตามวาทะย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียน

ดูกรนายบ้าน ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรโดยแท้ สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด

แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร

เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า

ผู้ต้องการหญ้า พึงแสวงหาหญ้า
ผู้ต้องการไม้ พึงแสวงหาไม้
ผู้ต้องการเกวียน พึงแสวงหาเกวียน
ผู้ต้องการบุรุษ พึงแสวงหาบุรุษ
แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไรๆ ว่า สมณะพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน

ข้าพเจ้าผู้มีวาทะอย่างนี้ กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัย ว่าเป็นวินัย เขาหาว่าด่า บริภาษอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใสทำให้ไม่เลื่อมใส "

ทรงบัญญัติสิกขากบทห้ามทองและเงิน

"ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงปรารภท่านพระอุปนันทศากยบุตร ทรงห้ามทองและเงิน และทรงบัญญัติสิกขาบทในพระนครราชคฤห์นั้นแล โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็นกุลุปกะของสกุลหนึ่ง รับภัตตาหารอยู่เป็นประจำ ของเคี้ยวของฉันอันใดที่เกิดขึ้นในสกุลนั้น เขาย่อมแบ่งส่วนไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร

เย็นวันหนึ่งในสกุลนั้นมีเนื้อเกิดขึ้น เขาจึงแบ่งส่วนเนื้อนั้นไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร เด็กของสกุลนั้นตื่นขึ้นในเวลาเช้ามืด ร้องอ้อนวอนว่า

"จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า"

บุรุษสามีจึงสั่งภรรยาว่า

"จงให้ส่วนของพระแก่เด็ก เราจักซื้อของอื่นถวายท่าน"

ครั้นแล้ว เวลาเช้าท่านอุปนันทศากยบุตร นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปสู่สกุลนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตร กราบ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบเรียนว่า

"ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้าส่วนหนึ่ง จากนั้นเด็กคนนี้ตื่นขึ้นแต่เช้ามืดร้องอ้อนวอนว่าจงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า ผมจึงได้ให้เนื้อส่วนของพระคุณเจ้าแก่เด็ก พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ"

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า

"เธอบริจาคทรัพย์กหาปณะหนึ่งแก่เราแล้วหรือ"

"ขอรับ ผมบริจาคแล้ว"

"เธอจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา"

บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตร แล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

"พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้รับรูปิยะเหมือนพวกเรา"

ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

"ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้รับรูปิยะเล่า"

แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า

"ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธอรับรูปิยะจริงหรือ"

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า

"จริง พระพุทธเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า

"ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า การกระ ทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของ ชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

พระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้ว ตรัส โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย"

ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุมีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง ไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์"

"ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัย ว่าเป็นวินัย เขาหาว่าด่า บริภาษ อุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส"

เมื่อท่านพระยสกากัณฑกบุตร กล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีได้กล่าวกะท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า

"ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตรรูปเดียวเท่านั้นเป็นพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุพวกนี้ทั้งหมดไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่เชื้อสายพระศากยบุตร ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตรจงอยู่ในเมืองเวสาลี พวกข้าพเจ้าจักทำการขวนขวายเพื่อจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแก่พระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตร" ครั้งนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตรได้ชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีเข้าใจแล้ว ได้ไปอารามพร้อมกับพระอนุทูต

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๖๓๓-๖๓๘ หน้า ๒๖๐-๒๖๔
                พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒ ข้อที่ ๑๐๕ หน้า ๑๐๘-๑๑๐