46-24 สงฆ์วินิจฉัยอธิกรณ์ด้วยอุพพาหิกวิธี



 ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี 

ครั้งนั้น สงฆ์ประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น จึงประชุมกัน ก็เมื่อสงฆ์กำลังวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น เสียงอื้อฉาวเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด และไม่เข้าใจข้อความของถ้อยคำที่กล่าวแล้วสักข้อเดียว ท่านพระเรวตะจึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้

ญัตติกรรมวาจา

"ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์อยู่ เสียงอื้อฉาวเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด และไม่เข้าใจข้อความของถ้อยคำที่กล่าวแล้วสักข้อเดียว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี

สงฆ์คัดเลือกภิกษุ ๔ รูป เป็นพวกปราจีน  ๔ รูป เป็นพวกเมืองปาฐา คือ

ท่านพระสัพพกามี ๑ ท่านพระสาฬหะ ๑ ท่านพระอุชชโสภิตะ ๑ ท่านพระวาสภคามิกะ ๑ เป็นฝ่ายภิกษุพวกปราจีน

ท่านพระเรวตะ ๑ ท่านพระสัมภูตสาณวาสี ๑ ท่านพระยสกากัณฑกบุตร ๑ ท่านพระสุมน ๑ เป็นฝ่ายภิกษุพวกเมืองปาฐา"

ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้

ญัตติทุติยกรรมวาจา

"ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์อยู่ เสียงอื้อฉาวเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด และไม่เข้าใจข้อความของถ้อยคำที่กล่าวแล้วสักข้อเดียว ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงสมมติภิกษุ ๔ รูปให้เป็นพวกปราจีน ๔ รูปให้เป็นพวกเมืองปาฐา เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี นี้เป็นญัตติ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เมื่อพวกเราวินิจฉัยอธิกรณ์อยู่ เสียงอื้อฉาวเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด และไม่เข้าใจข้อความของถ้อยคำ ที่กล่าวแล้วสักข้อเดียว สงฆ์สมมติภิกษุ ๔ รูปให้เป็นพวกปราจีน ๔ รูปให้เป็นพวกเมืองปาฐา เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี

การสมมติภิกษุ ๔ รูป ให้เป็นพวกปราจีน ๔ รูป ให้เป็นพวกเมืองปาฐา เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธี ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด

สงฆ์สมมติภิกษุ ๔ รูป ให้เป็นพวกปราจีน ๔ รูป ให้เป็นพวก เมืองปาฐา เพื่อระงับอธิกรณ์นี้ด้วยอุพพาหิกวิธีแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ ด้วยอย่างนี้"

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๖๔๙ หน้า ๒๗๓-๒๗๔