21-07 พระทัพพมัลลบุตรถูกโจทโดยไม่มีมูล



ก็โดยสมัยนั้นแล พระเมตติยะและพระภุมมชกะเป็นพระบวชใหม่และมีบุญน้อย เสนาสนะของสงฆ์ชนิดเลวและอาหารอย่างเลวย่อมตกถึงแก่เธอทั้งสอง ครั้งนั้น ชาวบ้านในพระนครราชคฤห์ชอบถวายเนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง แกงที่มีรสดี ๆ บ้าง ซึ่งจัดปรุงเฉพาะพระเถระทั้งหลาย ส่วนพระเมตติยะและพระภุมมชกะ เขาถวายอาหารอย่างธรรมดาตามแต่จะหาได้ เป็นชนิดปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ

เวลาหลังอาหาร เธอทั้งสองกลับจากบิณฑบาตแล้ว เที่ยวถามพวกภิกษุผู้เถระว่า

“ในโรงฉันของพวกท่านมีอาหารอะไรบ้างขอรับ”

พระเถระบางพวกบอกอย่างนี้ว่า

“พวกเรามีเนยใส น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อย ๆ”

“พวกกระผมไม่มีอะไรเลยขอรับ มีแต่อาหารอย่างธรรมดาตามแต่ที่จะหาได้ เป็นชนิดปลายข้าวมีน้ำส้มเป็นกับ”

สมัยต่อมา คหบดีผู้ชอบถวายอาหารที่ดี ถวายภัตตาหารวันละ ๔ ที่แก่สงฆ์เป็นนิจภัต เขาพร้อมด้วยบุตรภรรยาอังคาสอยู่ใกล้ ๆ ในโรงฉัน คนอื่น ๆ ย่อมถามด้วยข้าวสุก กับข้าว น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อย  คราวนั้น ภัตตุเทสก์ ได้ถวายภัตตาหารของคหบดีผู้ชอบถวายอาหารที่ดีแก่พระเมตติยะและพระภุมมชกะเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น ขณะนั้นท่านคหบดีไปสู่อารามด้วยกรณียะบางอย่าง แล้วเข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตรถึงที่สำนัก

ครั้นนมัสการท่านทัพพมัลลบุตร แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระทัพพมัลลบุตรยังท่านคหบดีให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นแล้วท่านคหบดีได้เรียนถามท่านว่า

“ภัตตาหารเพื่อจะฉันในวันพรุ่งนี้ที่เรือนของเกล้ากระผม พระคุณเจ้าจัดถวายแก่ภิกษุรูปไหนขอรับ”

ท่านพระทัพพมัลลบุตรตอบว่า

“อาตมาจัดให้แก่พระเมตติยะกับพระภุมมชกะแล้ว”

ขณะนั้น ท่านคหบดีเกิดความน้อยใจว่า

“ไฉนภิกษุผู้ลามกจักฉันภัตตาหารในเรือนของเราเล่า”

แล้วไปเรือนสั่งหญิงคนใช้ไว้ว่า

“แม่สาวใช้ เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ด้วยปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ”

หญิงคนใช้รับคำของท่านคหบดีว่า

“อย่างนั้น เจ้าค่ะ”

ครั้งนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะกล่าวแก่กันว่า

“เมื่อวานนี้ ท่านภัตตุเทสก์จัดภัตตาหารในเรือนท่านกัลยาณถัตติกคหบดีให้พวกเรา พรุ่งนี้ท่านคหบดีพร้อมด้วยบุตรภรรยาจักอังคาสเราอยู่ใกล้ ๆ คนอื่น ๆ จักถามด้วยข้าวสุก กับข้าว น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อย ๆ”

ด้วยความดีใจนั้น ตกกลางคืนเธอทั้งสองนั้นจำวัดหลับไม่เต็มตื่น ครั้นเวลาเช้า พระเมตติยะและพระภุมมชกะครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวรเดินเข้าไปยังนิเวศน์ของกัลยาณภัตติกคหบดี

หญิงรับใช้นั้นได้แลเห็นพระเมตติยะและพระภุมมชกะกำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้ว จึงปูอาสนะถวายที่ซุ้มประตู แล้วกล่าวว่า

“นิมนต์นั่ง เจ้าค่ะ”

พระเมตติยะและพระภุมมชกะนึกว่า

“ภัตตาหารจะยังไม่เสร็จเป็นแน่ เขาจึงให้เรานั่งพักที่ซุ้มประตูก่อน”

ขณะนั้นหญิงคนใช้นำอาหารปลายข้าว ซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับเข้าไปถวายกล่าวอาราธนาว่า

“นิมนต์ฉันเถิด เจ้าค่ะ”

“น้องหญิง พวกฉันเป็นพระรับฉันนิจภัต จ้ะ”

“ดิฉันทราบแล้วเจ้าค่ะว่า พระคุณเจ้าเป็นพระรับฉันนิจภัต แต่เมื่อวานนี้เอง ท่านคหบดีได้สั่งดิฉันไว้ ให้จัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ด้วยปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ ดังนี้ นิมนต์ฉันเถิด เจ้าค่ะ”

พระเมตติยะและพระภุมมชกะจึงปรึกษากันว่า

“อาวุโส เมื่อวานนี้เอง ท่านคหบดีไปสู่อารามในสำนักพระทัพพมัลลบุตร ท่านคหบดีคงถูกพระทัพพมัลลบุตรยุยงเป็นแน่นอนทีเดียว”

เพราะความเสียใจนั้น เธอทั้งสองรูปนั้นฉันไม่ได้ดังใจนึก ครั้นกลับจากบิณฑบาตถึงอารามในเวลาหลังอาหาร เก็บบาตรและจีวรแล้ว นั่งรัดเข่าด้วยผ้าสังฆาฏิอยู่ภายนอกซุ้มประตูอาราม นิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่พูดจา

ครั้งนั้นแล ภิกษุณีเมตติยาเข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะถึงสำนัก ครั้นแล้ว ได้กล่าวว่า

“ดิฉันไหว้ เจ้าค่ะ”

เมื่อนางกล่าวอย่างนั้นแล้ว พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็มิได้ทักทายปราศรัย นางจึงกล่าวว่า

“ดิฉันไหว้ เจ้าค่ะ”

แม้ครั้งที่สอง พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็มิได้ทักทายปราศรัย นางจึงได้กล่าวอีกเป็นครั้งที่สามว่า

“ดิฉันไหว้เจ้าค่ะ”

แม้ครั้งที่สาม พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็มิได้ทักทายปราศรัย

ภิกษุณีเมตติยาถามว่า

“ดิฉันผิดอย่างไรต่อพระคุณเจ้า ๆ ไม่ทักทายปราศรัยกับดิฉันเพื่อประสงค์อะไร”

ภิกษุทั้งสองตอบว่า

“ก็จริงอย่างนั้นแหละ น้องหญิง พวกเราถูกพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่ เธอยังเพิกเฉยได้”

“ดิฉันจะช่วยเหลืออย่างไร เจ้าคะ”

“น้องหญิง ถ้าเธอเต็มใจช่วย วันนี้แหละพระผู้มีพระภาคต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก”

“ดิฉันจะทำอย่างไร ดิฉันสามารถจะช่วยเหลือได้ด้วยวิธีไหน”

“มาเถิด น้องหญิง เธอจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จงกราบทูลอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่มิดเม้น ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมามีลมแรงขึ้น หม่อมฉันถูกพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า”

ภิกษุณีเมตติยา รับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า

“ตกลงเจ้าค่ะ”

แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งกราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่มิดเม้น ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมามีลมแรงขึ้น หม่อมฉันถูกพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตร ประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้นเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า

“ดูกรทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่าเป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา”

ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นฉันใด”

แม้ครั้งที่สองแล พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า

“ดูกรทัพพะเธอยังระลึกได้หรือว่าเป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา”

ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นฉันใด”

แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า

“ดูกรทัพพะเธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา”

ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นฉันใด”

“ดูกรทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาเช่นนี้ ถ้าเธอทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าเธอไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ”

“พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมา แม้โดยความฝันก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตอนตื่นอยู่เล่า”

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พวกเธอจงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และจงสอบสวนภิกษุเหล่านี้”

เมื่อรับสั่งดังนี้แล้ว พระองค์เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ เข้าพระวิหาร

หลังจากนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ให้ภิกษุณีเมตติยาสึก พระเมตติยะและพระภุมมชกะจึงได้แถลงเรื่องนี้กะภิกษุทั้งหลายว่า

“อาวุโสทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายอย่าให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเลย นางไม่ผิดอะไร พวกกระผมแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลลบุตรเคลื่อนจากพรหมจรรย์ จึงได้ให้นางใส่ไคล้”

ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า

“อาวุโสทั้งหลาย ก็นี่พวกคุณโจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้หรือ”

ภิกษุสองรูปนั้นสารภาพว่า

“อย่างนั้น ขอรับ”

บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่สิกขา ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

“ไฉน พระเมตติยะและพระภุมมชกะ จึงได้โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้เล่า”

แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอโจททัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้ จริงหรือ”

ภิกษุสองรูปนั้นทูลรับว่า

“จริง พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า

“ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้โจททัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้เล่า

การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใสและเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระเมตติยะและพระภุมมชกะโดยเอนกปริยาย ดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยเอนกปริยาย แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้นที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑

ก็แล พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้

พระบัญญัติ

“อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัด ซึ่งภิกษุด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้น เป็นเรื่องหามูลมิได้ และภิกษุยอมรับผิด เป็นสังฆาทิเสส”

 

 

อ้างอิง : พระเมตติยะและพระภุมมชกะ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ ข้อที่ ๕๔๒-๕๔๕

ภาพ : นครราชคฤห์