21-08 การฉันเนื้อสัตว์ของภิกษุผู้มีจิตอัปปมัญญา



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า กล่าวตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง ชื่อว่ายืนยันธรรมอันสมควรแก่ธรรม การกล่าวและกล่าวตามที่ชอบธรรม จะไม่ถึงข้อติเตียนละหรือ"

เนื้อที่ภิกษุไม่ควรบริโภคและควรบริโภค

"ดูกรชีวก ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ ชนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง

ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่าไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ

เนื้อที่ตนเห็น
เนื้อที่ตนได้ยิน
เนื้อที่ตนรังเกียจ

เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล

ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ

เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น
เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน
เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ

เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล"

การรับบิณฑบาตของภิกษุผู้มีจิตอัปมัญญา

"ดูกรชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา... กรุณา... มุทิตา... อุเบกขา...

แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไปในทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีเข้าไปหาเธอแล้วนิมนต์ด้วยภัตเพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุหวังอยู่ ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้นอังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต

ความดำริว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ

แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตเช่นนี้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ

เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่

ดูกรชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ว่าในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้างหรือ"

"ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า"

"สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ"

"อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่าพรหมมีปกติอยู่ด้วยเมตตา... กรุณา... มุทิตา... อุเบกขา... คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยานปรากฏแล้วด้วยว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา... กรุณา... มุทิตา... อุเบกขา..."

"ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาทเพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้นตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ถ้าท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน"

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ และโมหะ เป็นต้นนี้"

 

อ้างอิง : ชีวกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๕๖-๕๙