23-03 อนาถบิณฑิกคฤหบดีล้มป่วย ครั้งที่ ๒



ก็สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า

“ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปเถิด จงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ครั้นแล้ว จงไหว้เท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และท่านจงเรียนอย่างนี้ว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด

บุรุษนั้นรับคำของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เรียนท่านพระอานนท์ตามคำของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี

ท่านพระอานนท์รับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ได้ถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า

“ดูกรคฤหบดี ท่านพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้แลหรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏแลหรือ”

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีตอบว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย ความกำเริบย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ”

ผู้กลัวความตาย

“ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า

ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระธรรม ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใสในพระธรรมนั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตาย ที่จะมาถึงในภายหน้า

ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์นั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตาย ที่จะมาถึงในภายหน้า

ประกอบด้วยความเป็นผู้ทุศีล ก็เมื่อเขาเห็นความเป็นผู้ทุศีลนั้นอยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า

ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า

ผู้ไม่กลัวความตาย

ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน

อริยสาวกผู้ได้สดับในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า

ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชน พึงรู้เฉพาะตน ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมนั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า

ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ก็เมื่อเขาเห็นความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า

ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ ก็เมื่อเขาเห็นศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วนั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า

ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึงในภายหน้า”

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีพยากรณ์โสดาปัตติผลของตน

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวว่า

“ข้าแต่ท่านอานนท์ผู้เจริญ กระผมไม่กลัว กระผมจักพูดแก่ท่านได้ด้วยว่า

กระผมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว

กระผมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชน พึงรู้เฉพาะตน ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว

กระผมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

อนึ่ง สิกขาบทเหล่าใดซึ่งสมควรแก่คฤหัสถ์ อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว กระผมยังไม่แลเห็นความขาดอะไร ๆ ของสิกขาบทเหล่านั้นในตนเลย”

“ดูกรคฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว โสดาปัตติผล ท่านพยากรณ์แล้ว”

 

อ้างอิง : ทุสีลยสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๕๖๘-๑๕๗๓

ภาพ : ความเป็นอยู่ชาวอินเดียปัจจุบัน บริเวณนครสาวัตถีโบราณ