สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระทัพพมัลลบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระสุคต บัดนี้ เป็นกาลปรินิพพานแห่งข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ดูกรทัพพะ เธอจงสำคัญเวลาอันควร ณ บัดนี้เถิด”
ในกาลนั้น พระเถระถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กระทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วยืนอยู่ ณ ที่สุดข้างหนึ่ง กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์อยู่ในที่นั้น ๆ กับพระองค์ บำเพ็ญมาตลอดแสนกัป หมายเอาพระโยชน์นี้เท่านั้นจึงได้บำเพ็ญ ประโยชน์นี้นั้นถึงที่สุดแล้วในวันนี้ นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย”
ในบรรดาภิกษุปุถุชน ผู้เป็นพระโสดาบัน และพระสกทาคามีในที่นั้น บางพวกได้มีความกรุณาอย่างใหญ่ บางพวกถึงความร้องไห้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวาระจิตของเธอแล้ว ตรัสว่า
“ดูกรทัพพะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่เราและแก่ภิกษุสงฆ์”
พระทัพพมัลลบุตรแสดงฤทธิ์
ในขณะนั้นนั่นเอง ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดประชุมกัน ลำดับนั้น ท่านทัพพะแสดงปาฏิหาริย์ทั้งหมดอันทั่วไปแก่พระสาวก โดยนัยมีอาทิว่า แม้คนคนเดียวก็กลายเป็นหลายคนได้ ดังนี้ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า เหาะไปในอากาศ นั่งขัดสมาธิในอากาศนั้น ทำบริกรรมด้วยเตโชกสิณสมาบัติ เข้าสมาบัติ ออกแล้ว รำพึงถึงร่างกาย เข้าสมาบัติมีเตโชธาตุเป็นอารมณ์อีก ยังร่างกายให้ไหม้ ร่างกายของท่านทั้งหมด ได้ถูกเพลิงติดทั่ว เพลิงนั้นเป็นเหมือนเพลิงประจำกัป ไหม้สังขารเพียงอณูหนึ่งก็ดี เพียงเป็นเขม่าก็ดี ไม่เหลืออะไร ๆ ในสังขารนั้นไว้เลย ด้วยพลังแห่งอธิษฐาน ออกแล้ว ปรินิพพาน
เมื่อสรีระถูกไฟเผาไหม้อยู่ เถ้าไม่ปรากฏเลย เขม่าก็ไม่ปรากฏ เหมือนเถ้าแห่งเนยใสหรือน้ำมันที่ถูกไฟเผาไหม้อยู่ ไม่ปรากฏเลย เขม่าก็ไม่ปรากฏ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
“รูปกายได้สลายแล้ว สัญญาดับแล้ว เวทนาทั้งปวงเป็นธรรมชาติเย็นแล้ว สังขารทั้งหลายสงบแล้ว วิญญาณถึงความตั้งอยู่ไม่ได้”
สมัยต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงการปริพนิพพานของท่านพระทัพพมัลลบุตรแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
“คติของพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบ ข้ามเครื่องผูกคือกามโอฆะได้แล้ว ถึงแล้วซึ่งความสุขอันหาความหวั่นไหวมิได้ ไม่มีเพื่อจะบัญญัติ เหมือนคติแห่งไฟลุกโพลงอยู่ที่ภาชนะสำริด เป็นต้น อันนายช่างเหล็กตีด้วยค้อนเหล็ก ดับสนิท ย่อมรู้ไม่ได้ ฉะนั้น”
อ้างอิง : ทัพพสูตรที่ ๑-๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๗๗-๑๗๘ และอรรถกถา
ภาพ : เวฬุวันวิหาร นครราชคฤห์