มหาสุทัสสนสูตร | พระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ | บุพจริยาของพระสัมมาสัมพุทธโคตมเจ้า #พระเจ้าจักรพรรดิ


บุพจริยาของ#พระโพธิสัตว์ เมื่อครั้งเป็น#พระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ อาณาจักรกุสาวดี

มหาสุทัสสนสูตร
ว่าด้วย พระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
เล่มที่ ๑๐ ข้อ ๑๖๓-๑๘๖

-------

ในสมัยใกล้เสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคประทับระหว่างไม้สาละ ในสาลวัน อันเป็นที่แวะพักของเหล่ามัลละกษัตริย์ เขตกรุงกุสินารา

ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นครใหญ่เหล่าอื่นมีอยู่ คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี เมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี ที่เลื่อมใสพระตถาคตอย่างยิ่ง มีอยู่มากในเมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้นจักกระทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมือง แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ เป็นกษัตริย์ผู้ได้มูรธาภิเษก เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต มีราชอาณาจักรมั่นคง

ดูกรอานนท์ เมืองกุสินารานี้ มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดยยาวด้านทิศบูรพาและทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศอุดรและทิศทักษิณ
๗ โยชน์

กุสาวดี ราชธานีเป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมากมนุษย์หนาแน่นและมีภิกษาหาได้ง่าย กุสาวดี ราชธานี มิได้เงียบจากเสียง ๑๐ ประการ ทั้งกลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงเป็นที่ ๑๐ ว่า ท่านทั้งหลาย จงบริโภค จงดื่ม จงเคี้ยวกิน

กุสาวดีราชธานี แวดล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น มีประตูสำหรับวรรณะทั้ง ๔ ในประตู ๑ ๆ มีเสาระเนียดปักไว้ประตูละ ๗ เสา แวดล้อมด้วยต้นตาล ๗ แถว ต้นตาลเหล่านั้น เมื่อต้องลมพัดแล้ว มีเสียงไพเราะ ยวนใจ ชวนให้ฟัง และให้เคลิบเคลิ้ม

พระเจ้ามหาสุทัสสนะสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ และด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ

จักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีซี่พันหนึ่ง มีกง มีดุม พร้อมบริบูรณ์โดยอาการทั้งปวง

ช้างแก้ว เป็นช้างเผือกล้วน มีฤทธิ์ ไปในอากาศได้ เป็นพระยาช้างสกุลอุโบสถ

ม้าแก้ว เป็นม้าขาวล้วน ศีรษะดำ มีผมเป็นพวง มีฤทธิ์ไปในอากาศได้ ชื่อวลาหกอัศวราช

แก้วมณี เป็นแก้วไพฑูรย์ เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ แปดเหลี่ยม นายช่างเจียรไนดีแล้ว สุกใสแวววาว สมส่วนทุกอย่าง แสงสว่างของแก้วมณีแผ่ไปโดยรอบประมาณโยชน์หนึ่ง

นางแก้ว เป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ผิวพรรณผุดผ่อง ไม่สูงเกิน ไม่ต่ำเกิน ไม่ผอมเกิน ไม่อ้วนเกิน ไม่ดำเกิน ไม่ขาวเกิน

คฤหบดีแก้ว มีตาทิพย์ เห็นขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ

ปริณายกแก้ว เป็นบัณฑิต มีปัญญา...

...ความเป็นต่าง ๆ ความพลัดพราก ความเป็นโดยประการอื่น จากสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจทั้งปวงทีเดียวย่อมมี ทูลกระหม่อมอย่าได้มีความอาลัยทำกาลกิริยาเลย กาลกิริยาของผู้มีความอาลัย เป็นทุกข์ กาลกิริยาของผู้มีอาลัย บัณฑิตติเตียน

ขอทูลกระหม่อมจงละความพอพระทัยในพระนครแปดหมื่นสี่พัน อันมีกุสาวดีราชธานีเป็นประมุขเหล่านี้ของทูลกระหม่อมเสียเถิด อย่าได้ทรงทำความอาลัยในชีวิตเลย 

ขอทูลกระหม่อมจงทรงละความพอพระทัยในปราสาทแปดหมื่นสี่พัน... ในเรือนยอดแปดหมื่นสี่พัน... ในบัลลังก์ แปดหมื่นสี่พัน ... ในช้างแปดหมื่นสี่พัน ... ในม้าแปดหมื่นสี่พัน ... ในรถแปดหมื่นสี่พัน... ในแก้วมณีแปดหมื่นสี่พัน... ในสตรีแปดหมื่นสี่พัน... ในคฤหบดีแปดหมื่นสี่พัน ... ในกษัตริย์แปดหมื่นสี่พัน ... ในโคนมแปดหมื่นสี่พัน ...ในผ้าโขมพัสตร์อย่างเนื้อดี ผ้าฝ้ายอย่างเนื้อดี ผ้าไหมอย่างเนื้อดี ผ้ากัมพลอย่าง เนื้อดีแปดหมื่นสี่พันโกฏิพับ... ในสำรับคาวหวานแปดหมื่นสี่พันที่

ขอทูลกระหม่อมจงละความพอพระทัยในสิ่งเหล่านี้ เสียเถิด อย่าทรงกระทำความอาลัยในชีวิตเลย

ต่อมาไม่นาน พระเจ้ามหาสุทัสสนะได้ทรงกระทำกาลกิริยา ดังนี้แล้ว

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรอานนท์ คฤหบดีหรือบุตรแห่งคฤหบดี เมื่อบริโภคโภชนะอันเป็นที่ชอบใจ ย่อมมึนเมาในอาหาร ฉันใด ความเสวยอารมณ์ในเวลาใกล้มรณะของพระเจ้ามหาสุทัสสนะได้เป็น ฉันนั้นเหมือนกัน พระเจ้ามหาสุทัสสนะครั้นเสด็จสวรรคตแล้ว ทรงเข้าถึงสุคติพรหมโลก

ดูกรอานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเล่นอย่างเด็กอยู่ประมาณแปดหมื่นสี่พันปี ทรงดำรงตำแหน่งอุปราชอยู่แปดหมื่นสี่พันปี ทรงครอบครองราชสมบัติอยู่แปดหมื่นสี่พันปี ทรงดำรงเพศคฤหัสถ์ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมปราสาทแปดหมื่นสี่พันปี ท้าวเธอทรงเจริญพรหมวิหารสี่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จึงเสด็จเข้าถึงพรหมโลก

ดูกรอานนท์ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะคงจะเป็นคนอื่นแน่ ข้อนั้นเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น สมัยนั้น เราได้เป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ

อานนท์ เธอจงดูเถิด สังขารทั้งหลายเหล่านั้นทั้งหมดล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรไปแล้ว

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่น่ายินดีอย่างนี้แล

ข้อนี้ควรจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวงทีเดียว ควรที่จะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะหลุดพ้นไป

เราย่อมรู้ที่ทอดทิ้งร่างกาย เราทอดทิ้งร่างกายไว้ในประเทศนี้ การที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ชนะแล้ว มีอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ การทอดทิ้งร่างกายไว้นี้ นับเป็นครั้งที่เจ็ด

ดูกรอานนท์ เราไม่เล็งเห็นประเทศนั้น ๆในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่ตถาคตจะทอดทิ้งสรีระไว้เป็นครั้งที่แปด

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป การเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นความสุข